12 เหตุผลที่ทำให้คนมักถอดใจ


“เราจะเลือกยอมแพ้วันไหน สัปดาห์ไหน เดือนไหนก็ได้ แต่ทำไมต้องเลือกยอมแพ้วันนี้…” ประโยคเรียบง่ายแต่ทรงพลังนี้ ติดอยู่ที่โต๊ะทำงานของผมมานาน แม้จะจำไม่ได้ถึงที่มา แต่ทุกครั้งที่ผ่านสายตาผมก็จะมีแรงฮึดกลับมาได้เสมอ!!

สิ่งหนึ่งที่ได้จากการสังเกตตัวเองคือ “ความรู้สึกอยากยอมแพ้” เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นง่ายมาก วันนี้จึงอยากชวนคุยว่าทำไมผู้คนถึงยอมแพ้? อะไรคือแรงผลักดันลึกๆ ที่ทำให้คนเราเลือกจะ “หยุด” และเดินถอยออกมา?

บทความนี้ ผมดึงข้อมูลมาจาก The SDTEST poll  ที่ได้ทำการสำรวจเหตุผลที่ทำไมผู้คนตัดสินใจยอมแพ้ บูรณาการเข้าบกับทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) ที่จะช่วยให้คุณตระหนักรู้และจัดการตนเองได้ดียิ่งขึ้น


12 เหตุผลที่ทำให้คนมักถอดใจ แก้ด้วยทักษะทางอารมณ์และสังคม

เราในยุคที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็ว – มือถือต้องรวดเร็ว เครือข่ายต้องฉับพลัน และบริการต่างๆ ต้องส่งมอบทันทีเพียงคลิกเดียว ทำให้เราตกหลุมพรางของ “วัฒนธรรมรีบร้อน” ที่คาดหวังให้ความสำเร็จเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน

แต่ความจริงที่ทุกคนหลงลืมคือ “ความสำเร็จ (อย่างแท้จริง) เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา”

—ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ของ SEL คือเครื่องมือสำคัญในการควบคุมความรู้สึกหุนหันพลันแล่น เรียนรู้ที่จะ “อดทน” กับกระบวนการเติบโต เพื่อรับมือกับความเบื่อหน่ายและความคับข้องใจ

เมื่อเริ่มไม่เชื่อมั่นในตนเอง ทุกความท้าทายก็จะยากขึ้นมาทันที เพราะความเชื่อมั่นในตนเองคือเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนเราไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเริ่มรู้สึกสงสัยในตัวเอง

—ทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ของ SEL มีบทบาทสำคัญในการพาคุณกลับมาสำรวจตัวตนอย่างลึกซึ้ง เรียนรู้ที่จะยอมรับทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง ปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกที่มองอุปสรรคเป็นโอกาสในการเติบโต และสร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ (Emotional Resilience) เพื่อรับมือกับความท้อแท้

Comfort Zone เปรียบเสมือนเปลือกหอยแสนสวย ที่หากเราอาศัยอยู่ภายในตลอดเวลา เราจะไม่มีโอกาสสัมผัสโลกกว้างและค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตนเองเลย ดังนั้น การออกจาก Comfort Zone คือ รากฐานของการเติบโต จะเปิดโอกาสให้คุณได้พัฒนาและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

—ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Skills) ของ SEL คือเครื่องมือในการปรับตัวและเติบโต ฝึกความกล้าที่จะเผชิญความไม่คุ้นเคย ออกไปพบผู้คนใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ สร้างมุมมองเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลง


การคิดซ้ำวนไปวนมากับความผิดพลาดหรือความล้มเหลวในอดีต เปรียบเสมือนการพยายามขับรถพุ่งไปข้างหน้า แต่สายตาจับจ้องมองแต่กระจกหลัง การยึดติดอยู่กับอดีตทำให้เราไม่เห็นสิ่งที่จะเกิดตรงหน้า ผมไม่ได้จะบอกว่าอย่าสนใจอดีต เพราะการเรียนรู้จากอดีตก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่การใช้ชีวิตอยู่แต่ในอดีตเพียงอย่างเดียวก็เป็นเรื่องที่อันตราย…

—ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ของ SEL ช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง (ในสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้) และกลับมาโฟกัสที่ปัจจุบัน เรียนรู้ที่จะตั้งจุดมุ่งหมายเพื่อไปข้างหน้า

“ความรู้สึกกลัว” เป็นเรื่องธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ สิ่งที่ผมอยากบอกคือ คุณต้องสังเกตดีๆว่า ความกลัวนั้นกำลังช่วยเป็นเกราะป้องกัน หรือกำลังเป็นกำแพงที่กักขังศักยภาพของตัวเรา

—ทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) เครื่องมือสำคัญในการแปลงพลังงานลบของความกลัว ลองฝึกสลับโหมด “ความกลัว” เป็น “ความอยากรู้” มองความไม่แน่นอนเป็นเวทีแห่งการผจญภัย

คำพูดที่ว่า “ถ้าฉัน…” หรือ “รู้งี้…” มันทำให้คุณติดอยู่ในลูปของความผิดพลาด ลองนึกภาพของนักวิ่งมาราธอนที่สะดุดล้มระหว่างกลางการแข่งขัน ถ้าเขาหยุดวิ่งและนั่งครุ่นคิดถึงการล้มนั้น ผมเชื่อว่าพวกเขาจะไม่มีวันวิ่งจนจบการแข่งขันแน่นอน..

—ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) เครื่องมือในการปลดปล่อยตนเองจากความครุ่นคิด ด้วยการฝึกทักษะการยอมรับและก้าวผ่านความผิดพลาด สร้างนิสัยการมองไปข้างหน้าแทนการยึดติดกับอดีต


ลองนึกภาพคุณขับรถโดยไม่หยุดพักและบำรุงรักษาเลย —ในที่สุดมันก็จะพัง จิตใจและร่างกายของเราก็เช่นกัน แน่นอนผมไม่เถียงว่า การทำงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่การทำงานอย่างชาญฉลาดก็สำคัญเช่นกัน

—ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) เครื่องมือในการสร้างความสมดุล เรียนรู้ที่จะฟังสัญญาณความเหนื่อยล้าของร่างกายและจิตใจ พัฒนาทักษะการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญ

การคิดว่าฉันคือคนเดียวที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ เปรียบเสมือนการยืนอยู่บนเกาะเล็กๆ ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งความรู้สึกว่าไร้ทางออก

—ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Skills) เครื่องมือในการสร้างเครือข่ายสนับสนุน เรียนรู้ที่จะเปิดใจรับคำปรึกษาและประสบการณ์ รวมทั้งพัฒนาทักษะการสื่อสารและการขอความช่วยเหลือ

ความสงสารตัวเองเหมือนทรายดูด —ยิ่งคุณปล่อยตัวไปกับมันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากที่จะออกจากวังวนนั้น การรู้สึกสงสารตัวเองอาจดูเหมือนเป็นการตอบสนองที่ง่ายเมื่อคุณกำลังเผชิญกับอุปสรรคหรือความยากในชีวิต แต่เชื่อผมเถอะครับ “มันทำให้คุณติดอยู่กับที่”

—ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ช่วยให้คุณมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหา การค้นหาสาเหตุ และเปลี่ยนพลังงานของคุณไปสู่การลงมือทำที่จะช่วยให้คุณหลุดพ้นจากสถานการณ์แทนที่จะจมอยู่กับมัน


จุดอ่อนเปรียบราวกับเงาดำบนผืนกระดาษขาว หากจ้องมองเพียงจุดมืดนั้น เราจะพลาดเห็นพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่เหลืออยู่เช่นเดียวกันหากเราโฟกัสที่จุดอ่อนของเรามากเกินไป เราจะตกอยู่ในกับดักที่ทำร้ายตัวเอง จงเน้นย้ำที่จุดแข็งแต่ใช้จุดอ่อนของคุณเป็นแนวทางในการเติบโตมากกว่าเป็นข้อจำกัด

—ทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness)  ช่วยให้คุณตระหนักรู้ทัศนคติที่ทำร้ายตัว เปลี่ยนโฟกัสมาสร้างความเชื่อมั่นบนรากฐานของจุดแข็ง มองจุดอ่อนเป็นโอกาสในการพัฒนา

การจินตนาการเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่ช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างจุดที่คุณอยู่และจุดที่คุณต้องการไป เปรียบเสมือนการเตรียมสมองของคุณให้พร้อมสำหรับความสำเร็จ ถ้าคุณสามารถจินตนาการว่าตัวเองบรรลุเป้าหมาย คุณก็มีแนวโน้มที่จะทุ่มเทความพยายามเพื่อไปถึงจุดนั้น

—ทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ช่วยให้คุณตระหนักภาพเชิงลบ อุปสรรค หรือความกลัวล่วงหน้าทำให้คุณไม่กล้าจินตนาการต่อ ฝึกรู้ทันความคิด อารมณ์และความรู้สึกที่เปลี่ยนจินตนาการไปสู่การกระทำ เช่น เขียนรายการสิ่งที่หวังออกมา

ความล้มเหลวไม่ใช่ป้ายหยุด แต่เป็นทางเบี่ยง ลองนึกภาพชีวิตเหมือน GPS—เมื่อคุณเลี้ยวผิด มันจะคำนวณใหม่และหาเส้นทางใหม่ แทนที่จะมองความล้มเหลวเป็นเหตุผลให้ยอมแพ้ จงมองมันเป็นโอกาสในการปรับวิธีการของคุณ ความสำเร็จแทบไม่เคยเป็นเส้นตรง

 —ทักษะการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making) เครื่องมือช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกอย่างสร้างสรรค์ ฝึกเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละตัวเลือก การขอมุมมองจากผู้อื่นอาจช่วยให้คุณมีตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้น


บทสรุป:  เหตุผลที่ทำให้คนยอมแพ้นั้นมีหลากหลายและซับซ้อน แต่ทั้งหมดล้วนเป็นอุปสรรคที่สามารถเอาชนะได้ด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง การตระหนักถึงกับดัก 12 ข้อที่พบบ่อยเหล่านี้และการปรับเปลี่ยนมุมมองในการเข้าหามัน จะช่วยให้คุณผ่านพ้นความท้าทายที่ยากที่สุดได้ จงจำไว้ว่า ความสำเร็จไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่ด้วยความอดทน ความเชื่อมั่นในตนเอง และความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาด การยอมแพ้จะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปในการเดินทางของคุณ จงก้าวต่อไปข้างหน้า—สิ่งที่ดีที่สุดยังมาไม่ถึง

Source: https://sdtest.me/blog/16-reasons-people-give-up-on-their-goals

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

7 อุปนิสัย ของคนที่เก่งในการจัดการตนเอง

หลายคนเชื่อว่าพรสวรรค์คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่ความจริงแล้ว “ทักษะการจัดการตนเอง” ต่างหากที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ