— SELminder
“เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่เพียงด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมด้านอารมณ์และสังคมอีกด้วย” ทั้งหมดนี้ถูกปลูกฝังผ่านการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL)
คำถามยอดฮิตที่หลายคนมักสงสัย คือ แท้จริงแล้วการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning) หรือที่เรียกกันอย่างง่ายๆ ว่า SEL คืออะไรกันแน่..? จุดเริ่มต้นของ SEL มาจากการร่วมตัวกันของนักการศึกษา นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ในนาม Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning; CASEL โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษา ค้นคว้า และสนับสนุนพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการขยายไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ด้วย (Lifelong learning) ซึ่งองค์กร CASEL ได้ให้นิยามความหมายของ การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) ไว้ดังนี้
CASEL (https://casel.org/)
“กระบวนการเรียนรู้ (process) และพัฒนา (develop) 🡪 ความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) และเจตคติ (attitudes) ทั้งทางอารมณ์และสังคมของคนวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่”
ซึ่งในกระบวนการการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) ก็สามารถแยกย่อยออกเป็น 2 ทักษะสำคัญได้
- ทักษะทางอารมณ์ (Emotional) คือ ความสามารถในการเข้าใจอารมณ์-ความคิดตนเอง (Self-awareness) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง (Self-management) และความสามารถในการรับผิดชอบในสิ่งตนเองได้ตัดสินใจ (Responsible decision-making)
- ทักษะทางสังคม (Social) หมายถึง ความสามารถในการรับรู้และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Social awareness) ความสามารถในการสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์ทั้งทางคำพูดและไม่ใช่คำพูด (Relationship Skills)
ดังนั้น – เราจึงสามารถสรุปเป็นข้อความสั้นๆ ง่ายๆ ได้คือ “Social and Emotional Learning คือ กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทั้งทางอารมณ์และสังคม ของคนวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่” นั่นเอง
5 สมรรถนะสำคัญของการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม
การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (social and emotional learning; SEL) โฟกัสที่ 5 สมรรถนะสำคัญในการพัฒนาบุคคลให้มีความโดดเด่นทั้งด้านวิชาการ ด้านอารมณ์ และด้านสังคม ได้แก่
- การตระหนักรู้ภายในตนเอง (Self-awareness)
- การบริหารจัดการตนเอง (Self-management)
- การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness)
- ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)
- การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making)
เราจะมาเจาะลึกใน 5 สมรรถนะสำคัญกว่าคืออะไร สำคัญอย่างไร และสามารถเสริมสร้างด้วยวิธีไหนได้บ้าง ดังนี้
การตระหนักรู้ภายในตนเอง (Self-awareness)
/ Knowing Yourself /
การตระหนักรู้ภายในตนเองเป็นรากฐานของการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (foundation of SEL) มันคือความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ ความคิด ค่านิยม และจุดแข็งของตนเอง บุคคลที่มีการตระหนักรู้ตนเองสูงจะสามารถระบุสิ่งกระตุ้น (triggers) ของตนเองได้ รู้วิธีจัดการความรู้สึกตนเองเชิงบวก และตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงได้
- การรับรู้และบอกอารมณ์
- การรับรู้จุดแข็ง-จุดอ่อน
- การรับรู้ความสามารถในตนเอง
- การเชื่อมโยงความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม
กลยุทธ์ในการส่งเสริมการตระหนักรู้ตนเอง:
- การจดบันทึก: การสะท้อนอารมณ์ ความคิด และประสบการณ์ผ่านการเขียนบันทึกประจำวันหรือประจำสัปดาห์
- การตั้งสติ: การฝึกสมาธิ หรือการกลับมารู้ลมหายใจ ช่วยให้คุณมีสติมากขึ้นและสัมผัสกับสภาวะภายในของตนเอง
- การระบุจุดแข็ง: การรับรู้จุดแข็งและพรสวรรค์ของตนจะเสริมสร้างความมั่นใจและความเข้าใจในตนเอง
การบริหารจัดการตนเอง (Self-management)
/ Taking Control /
การบริหารจัดการตนเองสร้างขึ้นจากการตระหนักรู้ตนเอง (ถ้ายังไม่รู้ว่าตนเองคิดหรือรู้สึกอะไร จะจัดการตนเองได้อย่างไร…?) คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมแรงผลักดัน และจัดการพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ผู้ที่มีทักษะการจัดการตนเองสูงจะสามารถมีสมาธิจดจ่อ เผชิญกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความอดทนต่อความท้าทายต่างๆ
- การจัดการอารมณ์
- การแสดงออกทางบวก
- การวางแผน
- การตั้งเป้าหมายและกำกับตนเองเพื่อไปให้ถึง
กลยุทธ์ในการส่งเสริมการบริหารจัดการตนเอง:
- การตั้งเป้าหมาย: ช่วยพัฒนาเป้าหมาย SMART (Specific, Measurable, Achievable, Relevant และ Time-bound)
- การจัดการความเครียด: การกลับมารับรู้ลมหายใจเป็นเทคนิคการผ่อนคลายที่ช่วยจัดการกับความเครียด
- การจัดการเวลา: กลยุทธ์ในการจัดการเวลาเพื่อจัดลำดับความสำคัญของงาน ทำงานให้ทันกำหนดเวลา และหลีกเลี่ยงการประวิงเวลา
การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness)
/ Understanding Others /
การตระหนักรู้ทางสังคม คือ ความสามารถในการเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งรวมถึงการรับรู้สัญญาณทางสังคม ชื่นชมความหลากหลาย และเข้าใจประสบการณ์ของผู้อื่น บุคคลที่มีความสามารถในการตระหนักรู้ทางสังคมที่สูงจะส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ ความเคารพ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเชิงบวก
- การรับรู้มุมมองผู้อื่น
- การมี Empathy
- การเคารพในความแตกต่าง
- การชื่นชมในความหลากหลาย
กลยุทธ์ในการส่งเสริมการตระหนักรู้ทางสังคม:
- กิจกรรมการเข้าใจมุมมอง: การแสดงบทบาทหรือการอภิปรายกลุ่มที่สนับสนุนให้เกิดการมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองที่แตกต่าง
- คอมมูนิตี้ เซอร์วิส: สนับสนุนการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่างๆ
ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)
/ Building Bridges /
ทักษะด้านความสัมพันธ์ครอบคลุมถึงความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกที่ดี ซึ่งรวมถึงการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การรับฟังอย่างตั้งใจ การแก้ไขความขัดแย้ง และการทำงานเป็นทีม ทักษะความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน
- การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
- การพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวก
- การแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
- การทำงานเป็นทีมและแก้ปัญหาร่วมกัน
กลยุทธ์ในการส่งเสริมทักษะความสัมพันธ์:
- กิจกรรมการสื่อสาร: กิจกรรมที่ส่งเสริมการรับฟังอย่างตั้งใจ การสื่อสารที่ชัดเจน และการปฏิเสธอย่างสุภาพ
- กิจกรรมตัวกลาง: ฝึกใช้เทคนิคการเป็นตัวกลางเพื่อช่วยแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสันติและเคารพซึ่งกันและกัน
- โครงการความร่วมมือ: สร้างโอกาสให้ได้ทำงานร่วมกันในโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร
การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making)
/ Making Good Choices /
- การระบุปัญหาได้
- การวิเคราะห์สถานการณ์เป็น
- การเลือกวิธีแก้ไขอย่างสร้างสรรค์
- การรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
- การสะท้อนความคิด
การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับความสามารถในการประเมินสถานการณ์ พิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และการตัดสินใจที่สอดคล้องกับค่านิยมส่วนตน (personal values) ความสามารถนี้ช่วยให้คุณสามารถรับมือกับความท้าทาย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง และตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีต่อตนเองได้
References:
https://casel.org/fundamentals-of-sel/
https://www.futurelearn.com/info/blog/what-is-social-emotional-learning