ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ : Maslow’s hierarchy of needs

ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์


จินตนาการว่าคุณคือนักปีนเขา เป้าหมายของคุณคือ จุดสูงสุดของยอดเขานี้ คำถามคือ “การจะไปถึงยอดเขาได้สำเร็จคุณต้องใช้อะไรบ้าง…?” ผมเชื่อว่าคำตอบที่เราอาจนึกถึงคือ “แผนที่” ซึ่งเปรียบได้กับ ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) ที่แสดงเส้นทางความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงจุดสูงสุด

คำถามถัดมาคือ “หากคุณต้องการไปถึงจุดสูงสุดให้ง่ายขึ้น คุณต้องใช้อะไรบ้างครับ…?” คำตอบคือ “เข็มทิศและอุปกรณ์ช่วยต่างๆ” ซึ่งในบริบทนี้ก็คือ การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวช่วยในการเดินทางผ่านเส้นทางต่างๆ ทั้งทางเรียบ ทางชัน หรือทางขรุขระ (ได้อย่างไม่เจ็บตัวมากนัก)

ดังนั้น เรื่องราวที่ผมหยิบมาพูดคุยในวันนี้คือ การเข้าใจลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ช่วยเราอย่างไร? และเราสามารถบูรณาการการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) มาช่วยในการเดินทางนี้ได้อย่างไร?



ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) คืออะไร

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่อธิบายว่าความต้องการของมนุษย์มีลักษณะเป็นลำดับขั้น (มักถูกนำเสนอโดยรูปพิระมิด) โดยความต้องการพื้นฐานจะอยู่ล่างสุด และต้องได้รับการตอบสนองเสียก่อน บุคคลจึงจะมีความต้องการและมีแรงจูงใจในการตอบสนองความต้องการในระดับที่สูงขึ้นได้

โดยลำดับขั้นความต้องการถูกแบ่งออกเป็น 5 ขั้น ได้แก่ ขั้นล่างสุดคือความต้องการทางกายภาพ (Physiological) ขั้นความมั่นคงปลอดภัย (Security) ขั้นความรักและการเป็นส่วนหนึ่ง (Love and Belonging) ขั้นความเคารพนับถือ (Esteem) และขั้นสูงสุดคือ ความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-actualization) มีรายละเอียดดังนี้

1. ความต้องการทางกาย

เป็นความต้องการพื้นฐานที่สุดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ได้แก่:

  • อาหาร
  • น้ำ
  • ที่พักพิง
  • เสื้อผ้า
  • การนอนหลับ

2. ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย

เป็นความต้องการทางร่างกายได้รับการตอบสนองแล้ว บุคคลจะแสวงหาความปลอดภัยและความมั่นคง ได้แก่:

  • ความมั่นคงส่วนบุคคล
  • ความมั่นคงทางการเงิน
  • สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
  • การปกป้องชีวิตจากภัยอันตราย

3. ความต้องการความรักและการเป็นส่วนหนึ่ง

เป็นความต้องการ/ความปรารถนาด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ความรัก และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ได้แก่:

  • มิตรภาพ
  • ความสัมพันธ์ในครอบครัว
  • ความสัมพันธ์โรแมนติก
  • กลุ่มทางสังคม

4. ความต้องการความเคารพนับถือ

เป็นความต้องการที่บุคคลพยายามแสวงหาความนับถือตนเองและการยอมรับจากผู้อื่น ได้แก่:

4.1 การยอมรับนับถือตนเอง

  • ความสําเร็จ (Achievement)
  • ความเป็นตัวของตัวเอง (Independence)
  • ความเชื่อมั่นในตัวเอง (Confidence)
  • ความมีอิสระ (Freedom)

4.2 การยอมรับจากผู้อื่น

  • การได้รับการเอาใจใส่
  • การได้รับเกียรติยกย่อง
  • ความเคารพ
  • การมีสถานะ
  • การยอมรับ

5. ความต้องการมีชีวิตตามอุดมคติ

เป็นความต้องการในระดับสูงสุด ซึ่งแสดงถึงความปรารถนาที่จะเติมเต็มศักยภาพของตนเอง และบรรลุการเติบโตส่วนบุคคล ได้แก่:

  • ความคิดสร้างสรรค์
  • การแก้ปัญหา
  • ศีลธรรม
  • การยอมรับตนเองและผู้อื่น

Key Points:

  1. เป็นลำดับขั้น (Hierarchy): ความต้องการจะถูกจัดเรียงเป็นลำดับขั้นโครงสร้างคล้ายปิรามิด โดยมีความพื้นฐานอยู่ล่างสุด ไต่ระดับขึ้นไปยังความต้องการบรรลุศักยภาพของตนเองอยู่ที่ด้านบนสุด
  2. ก้าวทีละขั้น: บุคคลจะต้องได้รับการตอบสนองความต้องการในระดับล่างก่อน จึงจะขยับขั้นไปสู่ความต้องการในระดับที่สูงกว่าได้
  3. ยืดหยุ่นได้: แม้ว่าจะเป็นลำดับขั้น แต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและความแตกต่างทางวัฒนธรรม อาจมีความทับซ้อนกันและยืดหยุ่นระหว่างระดับต่างๆ ได้

โดยสรุป:

  1. ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) ใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจแรงจูงใจ ความต้องการ และพฤติกรรมของบุคคล
  2. ช่วยอธิบายว่าทำไมผู้คนจึงมีแรงจูงใจต่อเป้าหมายบางอย่าง
  3. ช่วยอธิบายความขัดแย้งและพฤติกรรมที่ปรากฏได้ ตัวอย่างเช่น หากความต้องการด้านความปลอดภัยของบุคคลถูกคุกคาม พวกเขาอาจให้ความสำคัญกับการเอาชีวิตรอดมากกว่าความต้องการอื่นๆ

ในขณะที่ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) เสนอกรอบแนวคิดแบบขั้นตอนที่บุคคลต้องผ่านขั้นพื้นฐานก่อน จึงจะขยับไปสู่ขั้นที่สูงกว่าได้ แต่กรอบแนวคิดของ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) โดย CASEL เสนอกรอบแนวคิดแบบองค์รวมและเชื่อมโยงกันมากกว่า ดังนั้น เมื่อบูรณาการสมรรถนะ SEL เข้ากับลำดับขั้นของมาสโลว์ จะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับแรงจูงใจ และการพัฒนาของมนุษย์

การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) คือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และเจตคติ เพื่อให้สามารถรับรู้และเข้าใจความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของตนและผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง สามารถควบคุมอารมณ์และการกระทำของตนให้แสดงออกได้อย่างเหมาะสม สามารถตัดสินใจและรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำของตนได้ รวมทั้งสามารถสื่อสารกับผู้อื่นและสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี—CASEL มี 5 สมรรถนะที่สำคัญ ได้แก่
               – การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness)
               – การจัดการตนเอง (Self-management)
               – การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness)
               – ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)
               – การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making)

ซึ่งสามารถบูรณาการการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) เข้ากับลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

รากฐาน: ขั้นความต้องการทางกายภาพ

ขั้นนี้คือความต้องการเร่งด่วนและจำเป็นที่สุดที่บุคคลจะต้องได้รับก่อนความต้องการอื่นๆ ได้แก่ อากาศ น้ำ อาหาร ที่พักอาศัย และยารักษาโรค เป็นต้น หากรากฐานยังไม่มั่นคง แรงจูงใจของบุคคลก็จะยังอยู่ที่ความพยายามในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานเพื่อความอยู่รอดเหล่านี้ก่อน

บูรณาการ SEL:
↳ การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness): ช่วยให้บุคคลกลับมาตระหนักรู้และเข้าใจความต้องการทางกายภาพของตนเอง รวมถึงการตอบสนองทางอารมณ์ต่อความต้องการเหล่านั้น

ขั้นความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย

ลองนึกภาพว่าคุณกำลังเตรียมตัวปีนยอดเขาสูง คุณพร้อมที่จะปีนโดยไม่มีอุปกรณ์ safety และไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์หรือเปล่าครับ? เช่นเดียวกับขั้นนี้เลยครับ เมื่อความต้องการพื้นฐานได้รับการตอบสนองแล้ว เราจะมองหาความมั่นคงปลอดภัยต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่ความปลอดภัยในชีวิต แต่รวมไปถึงความปลอดภัยทางการเงิน สุขภาพ และที่อยู่อาศัยด้วย

บูรณาการ SEL:
↳ การจัดการตนเอง (Self-management): ช่วยให้คุณมั่นใจว่าไม่เพียงแค่อยู่รอด แต่ยังวางรากฐานสำหรับก้าวหน้าต่อไปด้วย การเรียนรู้ที่จะจัดการความเครียดและเข้าใจสัญญาณทางอารมณ์ สามารถเปลี่ยนรากฐานที่ไม่มั่นคง ให้เป็นมั่นคงขึ้นได้

ขั้นความต้องการความรักและการเป็นส่วนหนึ่ง

มนุษย์ต้องการที่จะรักและถูกรักจากคนอื่น หากขาดมิติด้านนี้ไปอาจกลายเป็นคนขี้เหงา มีปัญหาการเข้าสังคม และปัญหาด้านความสัมพันธ์ได้ ในแง่ของ SEL ขั้นตอนนี้มุ่งเน้นไปที่ทักษะความสัมพันธ์และความตระหนักรู้ทางสังคม ซึ่งเป็น 2 องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเชื่อมต่อกับผู้อื่น

บูรณาการ SEL:
↳ ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills): นัยสำคัญ SEL ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ การรับฟังอย่างตั้งใจ และความเคารพ พัฒนาทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์

ขั้นความต้องการการยอมรับนับถือ

เมื่อคุณก้าวผ่านสามขั้นแรกมาแล้ว คุณจะมาถึงระดับขั้นความต้องการการยอมรับนับถือ ที่นี่คุณจะเริ่มแสวงหาการยอมรับนับถือในตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความสําเร็จ ความเป็นตัวของตัวเอง และความเป็นอิสระ รวมทั้งการยอมรับนับถือจากผู้อื่นด้วย ซึ่งหากเกิดความไม่สมดุลในการยอมรับและความเคารพนับถือ อาจส่งผลให้คุณมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ และอาจจะผูกติดกับการแสวงหาการการยอมรับจากภายนอก (ซึ่งในระยะยาวอาจไม่ยั่งยืน)

บูรณาการ SEL:
↳ การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness): ตระหนักถึงคุณค่าของผู้อื่น และการมีส่วนร่วมในการสร้างการยอมรับนับถือในตนเองของคุณ (ที่ไม่ผูกติดกับภายนอกอย่างเดียว)

ขั้นความต้องการมีชีวิตตามอุดมคติ

จุดสูงสุดของลำดับขั้นของมาสโลว์คือการบรรลุศักยภาพของตนเอง มันเกี่ยวกับความปรารถนาที่จะเป็นมากกว่าที่เขาเป็นอยู่  SEL มีบทบาทสำคัญโดยการส่งเสริมความรู้สึกแท้จริงของตนเองและกระตุ้นการเรียนรู้และการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มันสอนให้คุณตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงแต่ท้าทาย เหมือนกับการเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดไปสู่ยอดเขา

บูรณาการ SEL:
↳ การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness): ช่วยให้คุณเข้าใจความหลงใหล คุณค่า และศักยภาพของตนเอง
↳ การจัดการตนเอง (Self-management): พัฒนาวินัยในตนเองและความมุ่งมั่นในการไล่ตามเป้าหมาย


บทสรุป —การบูรณาการกรอบแนวคิด SEL ของ CASEL เข้ากับลำดับขั้นของมาสโลว์ ช่วยให้เราเข้าใจที่ละเอียดและครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับแรงจูงใจและการพัฒนาของมนุษย์ โดยการมุ่งเน้นทั้งความต้องการพื้นฐานและทักษะที่จำเป็นในการตอบสนองความต้องการเหล่านั้น

เริ่มต้นการผจญภัยนี้โดยมี SEL เป็นแนวทาง และเปลี่ยนการแสวงหาแรงจูงใจของคุณให้เป็นการเดินทางแห่งการค้นพบตนเองและความสมบูรณ์ เอื้อมมือออกไป ปีนให้สูง และปลดปล่อยตัวตนที่ดีที่สุดของคุณ ภูเขาของคุณรอคอยอยู่

source:
th.wikipedia.org/wiki/ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์
https://www.linkedin.com/in/victoria-repa-115a1987

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

12 เทคนิคบริหารเวลา แบบคนจัดการตัวเองเก่ง
12 เทคนิคบริหารเวลา แบบคนจัดการตัวเองเก่ง

12 เทคนิคบริหารเวลา แบบคนจัดการตัวเองเก่ง ไม่เพียงแค่ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น แต่ยังฝึกให้คุณจัดการตัวเองได้อย่างมีวินัย และตระหนักรู้ตนเอง

4 เฟสการฟังอย่างตั้งใจ
4 เฟสการฟังอย่างตั้งใจ

ใการฟังอย่างตั้งใจไม่ใช่แค่ “การได้ยินคำพูด” แต่คือ การเชื่อมโยงกับผู้พูดด้วยใจจริง และนี่คือ 4 เฟสการฟังอย่างตั้งใจ

ทักษะการยอมรับ (Acceptance)
ทักษะการยอมรับ (Acceptance)

“ยอมรับ” คำง่ายๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่กลับเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการอารมณ์และความเครียดในชีวิตประจำวัน : ทักษะการยอมรับ (Acceptance)