“คุณเคยเลื่อนดูฟีดโซเชียลมีเดียของคนที่คุณรู้สึกไม่ชอบบ้างไหม..? ถ้าเคย..! คุณไม่ใช่คนเดียวที่มีพฤติกรรมแบบนี้ครับ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘การตามติดโดยเกลียดชัง’ หรือ Hate-following คือ พฤติกรรมที่ผู้คน ‘ใช้เวลาออนไลน์’ ไปกับการติดตามและสอดส่องชีวิตของคนที่พวกเขารู้สึกไม่ชอบ หงุดหงิด (หรือถึงขั้นเกลียด) ทั้งในแง่ของคำพูด ความคิด การกระทำ หรือตัวตนของบุคคลเหล่านั้น
ดร.เจนนิเฟอร์ เบ็คเก็ตต์ (Jennifer Beckett) ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สื่อจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น อธิบายถึงเหตุผลของการเลือกติดตามคนที่ตนไม่ชอบ เป็นเพราะพฤติกรรมนี้สามารถนำไปสู่การหลั่งสารเอนดอร์ฟินในร่างกายได้ โดยเฉพาะเมื่อเราพบเห็นเนื้อหาที่ทำให้รู้สึก ‘How dare you!’ (หรืออารมณ์ประมาณว่า ‘เมิงก็กล้าดีเนอะ… คนด่าทุกวันยังมั่นจะไลฟ์อีก!’) เป็นต้น
บทความนี้ #เพจSELminder ผมจะชวนพูดคุยถึงเบื้องหลังจิตวิทยาและมุมมืดของการตามติดโดยเกลียดชัง รวมถึงการประยุกต์ใช้ทักษะ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) เพื่อการรู้เท่าทันและจัดการตนเองได้ทัน ก่อนตกหลุมพรางของการเกลียด!
จิตวิทยาเบื้องหลัง ‘Hate-Following’
▔
- ทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison)
มนุษย์มีแนวโน้มเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอยู่เสมอ และ “โซเชียลมีเดียคือตัวกระตุ้นชั้นดี” ที่ทำให้การเปรียบเทียบนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราติดตามคนที่ไม่ชอบเพราะต้องการรู้สึกเหนือกว่า หรือเพื่อยืนยันว่าฉันดีกว่า อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบนี้อาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงหรืออิจฉา จนเกิดเป็นวงจรความรู้สึกด้านลบ - เพื่อความบันเทิง (Entertainment Factor)
สำหรับบางคน การติดตามคนที่ไม่ชอบเป็นเรื่องของความบันเทิง การได้เห็นชีวิตของคนที่เกลียด สร้างความรู้สึกสนุกแบบแปลกๆ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขามีพฤติกรรมแย่ๆ หรือมีเรื่องให้ได้ตามด่า *ข้อควรระวัง: ความสนุกนี้อาจกลายเป็นนิสัยการเสพติดอารมณ์ด้านลบ - อยากรู้อยากเห็น (Curiosity)
เราอาจสนใจชีวิต ความคิด และการกระทำของคนที่เราไม่ชอบ เพียงเพราะพวกเขาแตกต่างหรือเป็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ความอยากรู้นี้อาจผลักดันให้เราติดตาม แม้จะรู้ว่าไม่ได้นำพาสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตเราก็ตาม - ยืนยันความเชื่อ (Validation of Beliefs)
การติดตามคนที่เราไม่ชอบช่วยตอกย้ำความคิดและความเชื่อของเรา การสังเกตพฤติกรรมหรือมุมมองที่ขัดแย้ง ทำให้เรารู้สึกมั่นคงในความเชื่อของตนเอง จึงเกิดแรงจูงใจในการติดตามข่าวสารของคนที่คิดต่าง - เปิดมุมมองใหม่ (Challenging Perspectives)
บางคนเลือกติดตามผู้ที่มีมุมมองต่างเพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ การทำเช่นนี้อาจนำไปสู่การเติบโต แต่คุณต้องมีทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) และการจัดการตนเอง (Self-management) ที่เหมาะสมด้วย หากไม่สามารถจัดการได้ดี การรับเนื้อหาด้านลบมากเกินไปอาจนำไปสู่ความเครียดและความอึดอัดใจ - ออกจากวงจรความคิดที่คล้ายคลึงกัน (Avoiding Echo Chambers)
เพื่อไม่ให้ติดอยู่ในสังคมออนไลน์ที่มีแต่คนคิดเหมือนกัน บางคนจึงเลือกติดตามผู้ที่มีความคิดต่าง อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจส่งผลเสียหากต้องเผชิญกับเนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์ด้านลบบ่อยครั้ง จนกระทบต่อสภาพจิตใจโดยรวม
ด้านมืด (Dark Side) ของตัวเรา จากการติดตามคนที่เราไม่ชอบ
▔
- การลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization)
การติดตามคนที่เราไม่ชอบอาจทำให้เราค่อยๆ ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขาลง โดยเลือกมองเห็นแต่ข้อเสีย จนพวกเขากลายเป็นเพียงตัวละครหรือตัวแทนของสิ่งที่เราไม่ชอบ พฤติกรรมนี้อาจกระตุ้นให้เกิด:
– ความรู้สึกต่อต้านที่รุนแรงขึ้น
– ความรู้สึกชอบธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์
– การเยาะเย้ยถากถางที่เพิ่มดีกรีความรุนแรง - การบูลลี่และการแสดงความเกลียดชัง (Cyberbullying and Trolling)
การติดตามคนที่เราไม่ชอบอาจพัฒนาไปสู่พฤติกรรมการบูลลี่และเกลียดชังบนโลกออนไลน์ การซ่อนตัวภายใต้สถานะ “ผู้มีส่วนร่วมโดยไม่ระบุตัวตน” (Anonymous) กระตุ้นให้เราเกิดพฤติกรรม:
– วิจารณ์และเหยียดหยามผู้อื่นได้อย่างสนุกปากง่ายมากขึ้น
– ขาดความยับยั้งชั่งใจในการแสดงความคิดเห็น
– ข้อความที่ส่งไปเกิดผลกระทบทางจิตใจต่อทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ - เกิดความเคยชินในการมองเห็นแต่ข้อเสียของผู้อื่น (Increased Distrust)
การเผชิญกับผู้คนที่เราไม่ชอบเป็นประจำ อาจทำให้มุมมองต่อโลกของเราเบี่ยงเบนไปในทางลบ กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและไม่ไว้ใจผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวและมุมมองของเราที่มีต่อโลกใบนี้ - ความนับถือตนเองลดลง (Lowered Self-Esteem)
การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ดูเหมือนมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบกว่า ส่งผลกระทบต่อความนับถือตนเองของเราได้ การเห็นชีวิตของคนอื่นซ้ำๆ แม้จะเป็นคนที่เราไม่ชอบ ก็อาจทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับการตัดสินใจและความสำเร็จของตัวเองได้ - ความเครียดและความวิตกกังวล (Stress and Anxiety)
การมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่กระตุ้นอารมณ์เชิงลบสามารถเพิ่มความเครียดและความวิตกกังวลให้เราได้ การรับข้อมูลที่ไม่มีความสุขจากคนที่เราไม่ชอบบ่อยๆ อาจกลายเป็นแรงกดดันที่ค่อยๆ บั่นทอนสุขภาพจิตของเรา - ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (Emotional Fatigue)
การเผชิญกับเนื้อหาหรือบุคคลที่เรารู้สึกไม่ชอบใจอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ซึ่งความเหนื่อยล้าชนิดนี้อาจสะท้อนออกมาในอาการทางกาย ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการโฟกัส มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก และสนุกกับชีวิตประจำวันของเรา
การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมช่วยอะไร?
การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning – SEL) ตามกรอบแนวคิดของ CASEL เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดผลกระทบด้านลบจากพฤติกรรม ‘การตามติดโดยเกลียดชัง’ หรือ Hate-following ได้ โดยเน้นการพัฒนาสมรรถนะทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การตระหนักรู้ในตนเอง การจัดการตนเอง การตระหนักรู้ทางสังคม ทักษะความสัมพันธ์ และการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งสามารถช่วยสร้างนิสัยการใช้โซเชียลมีเดียที่ดีและส่งผลบวกต่อสุขภาพจิตได้ ดังนี้
1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness)
ช่วยให้เรารับรู้และเข้าใจอารมณ์หรือแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมการ “ติดตามคนที่ไม่ชอบ” การเข้าใจตนเองนำไปสู่การใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติและเกิดผลดีต่อจิตใจ
การนำไปใช้:
- ลองสำรวจความรู้สึกของคุณเมื่อดูบัญชีโซเชียลมีเดียบางบัญชี
- ตั้งคำถามว่าบัญชีเหล่านี้ส่งผลดีหรือร้ายต่อภาพลักษณ์และมุมมองของตัวคุณเอง
2. การจัดการตนเอง (Self-Management)
ช่วยควบคุมปฏิกิริยาและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนเอง ลดการกระทำโดยไม่ยั้งคิด เช่น การใช้บัญชี “ผู้มีส่วนร่วมโดยไม่ระบุตัวตน” (Anonymous) ไปพิมพ์ด่าหรือโจมตีบุคคลที่เกลียด
การนำไปใช้:
- ตั้งขอบเขตเวลาในการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น กำหนดเวลาเฉพาะสำหรับการใช้งานหรือจำกัดเวลาต่อวัน
- ฝึกควบคุมตนเองโดยเลือกไม่ติดตามหรือปิดเสียงบัญชีที่ทำให้เกิดอารมณ์ลบ
3. การตระหนักรู้ทางสังคม (Social Awareness)
ช่วยให้เรามองโลกด้วยความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจมุมมองของผู้อื่น ลดการตัดสินหรือมองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนที่เราไม่ชอบ
การนำไปใช้:
- ก่อนจะโต้ตอบหรือแสดงความเห็นใด ๆ ให้เตือนตัวเองว่าทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน
- อย่าใช้มุมมองของตัวเราเองเที่ยวไปตัดสินผู้อื่น
4. ทักษะความสัมพันธ์ (Relationship Skills)
ทักษะนี้ช่วยให้เราสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เคารพซึ่งกันและกัน และสนับสนุนการสร้างชุมชนดิจิทัลที่ดี ทำให้เรารับมือกับความแตกต่างได้โดยไม่ปล่อยให้อารมณ์ด้านลบเข้ามามีบทบาท
การนำไปใช้:
- เน้นติดตามบัญชีที่สร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนคุณ
- มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก
- ใช้ฟังก์ชันปิดเสียงหรือเลิกติดตามสำหรับบัญชีที่ทำให้คุณรู้สึกเครียดหรืออึดอัดบ่อย ๆ
5. การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Decision-Making)
การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบช่วยให้เราเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของเรา การใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างมีสติจะช่วยให้เราใช้พื้นที่ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมชีวิต แทนที่จะบั่นทอน
การนำไปใช้:
- ประเมินฟีดโซเชียลมีเดียของคุณเป็นประจำ
- ดูว่ามันสอดคล้องกับคุณค่าหรือเป้าหมายของคุณหรือไม่
- หากพบว่ามีบัญชีที่ส่งผลเสียต่อจิตใจ ลองลบหรือปิดเสียง และแทนที่ด้วยเนื้อหาที่เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตคุณ
บทสรุป
การ “ติดตามคนที่เราไม่ชอบ” เป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไป แต่หากเรามองหาเหตุผลเชิงลึก จะช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์อย่างตั้งใจมากขึ้น การนำหลักการของ SEL มาใช้ จะช่วยให้เราเปลี่ยนความสนใจไปสู่ความสัมพันธ์และเนื้อหาที่สนับสนุนสุขภาพจิตและการเติบโตของเรา ลองประเมินนิสัยการใช้โซเชียลมีเดียของคุณ และพิจารณาว่าการปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ อย่างมีสติจะช่วยสร้างประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีและเติมเต็มชีวิตคุณได้อย่างไรบ้าง
───────
การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม
socialandemotionallearning
เพจselminder
Start aware, Act responsibly
รากฐานที่มั่นคงของคน คือรากฐานของอารมณ์ที่แข็งแรง
Sources:
https://www.abc.net.au/news/2020-09-29/when-hate-following-becomes-a-toxic-habit/12616006
https://www.independent.co.uk/life-style/the-psychology-behind-why-we-hatefollow-people-on-social-media-b1837751.html