4 กลยุทธ์การตัดสินใจภายในทีม


“การตัดสินใจ” ไม่ใช่แค่การเลือกทิศทาง แต่ยังเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกมีคุณค่าด้วย (โดยเฉพาะเมื่อกระบวนการตัดสินใจเกิดขึ้นภายในทีม)

พูดถึงเรื่องของ “การตัดสินใจภายในทีม” ทำให้ผมนึกไปถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ Crucial Conversations หรือชื่อไทย “เรื่องสำคัญ ต้องพูดเป็น” ผู้เขียน Kerry Patterson เนื้อหาในบทที่ 9 ผู้เขียนพูดถึง “สองช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงที่สุดในการสื่อสารภายในทีม คือ ช่วงเปิดและช่วงปิด” กล่าวคือ ช่วงเปิดมีความเสี่ยงเพราะคุณต้องหาวิธีสื่อสารให้ทีมเกิดความรู้สึกปลอดภัย ขณะที่ช่วงปิดมีความเสี่ยงในเรื่องข้อสรุปของการตัดสินใจ ที่หากไม่เคลียร์อาจนำพาไปสู่ปัญหาและความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนของการกระทำในภายหลังได้


บทความวันนี้ #เพจSELminder อยากชวนพูดคุยถึง “การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making)” ซึ่งเป็นคีย์สมรรถนะสำคัญหนึ่งในกระบวนการ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) เพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างมีความรับผิดชอบต่อทั้งอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง/ผู้อื่น 

ผ่าน 4 แนวทางของ “The Four Methods of Decision Making” ที่มีวิธีการตัดสินใจที่แตกต่างกันและสำรวจว่าวิธีเหล่านั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร



4 กลยุทธ์การตัดสินใจภายในทีม

วิธีการตัดสินใจแบบสั่งการ มักถูกหยิบมาใช้เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ในแนวทางนี้ บุคคลหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปคือ ผู้นำ/ผู้จัดการ/หัวหน้าทีม จะเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายทั้งหมด เปรียบเสมือนเหมือนกัปตันเรือที่ต้องพาทุกคนผ่านพายุฝนไปให้ได้ —จึงอาจไม่มีเวลาสำหรับการพูดคุย แต่จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วและชัดเจน

การบูรณาการ SEL:

  • หากผู้นำมีทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ซึ่งเป็นคีย์สมรรถนะอันดับหนึ่งของ SEL จะช่วยให้ผู้นำสามารถรับรู้ถึงอารมณ์และอคติของตนเองที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจนั้นๆ ได้
  • รวมทั้งทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ที่ใช้ในการควบคุมอารมณ์ของตนเองก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบสนองอย่างเร่งรีบ หรือตอบสนองด้วยอารมณ์หรืออคติของตนเอง

วิธีการตัดสินใจแบบปรึกษาหารือ เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลจากผู้อื่นก่อนเกิดการตัดสินใจ เปรียบเสมือนกัปตันเรือที่ขอให้ลูกเรือซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสภาพอากาศหรือเส้นทางเดินเรือนั้นๆ มาให้ข้อมูลเพิ่มก่อนการตัดสินใจเดินทางต่อ ถึงแม้การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังคงขึ้นอยู่กับผู้นำ แต่การปรึกษาหารือกับทีมงานก่อนแสดงให้เห็นว่าผู้นำเคารพในข้อมูล ความเชี่ยวชาญ และคุณค่าของแต่ละคน

การบูรณาการ SEL:

  • ทักษะการตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness) ช่วยให้ผู้นำตระหนักถึงอารมณ์ มุมมอง และความเชี่ยวชาญของผู้อื่น ช่วยให้พวกเขาไม่ได้มองหาแค่ข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ยังรับฟังอารมณ์และความกังวลที่เกิดขึ้นจากมุมมองที่แตกต่างหลากหลายของแต่ละมุมมองอีกด้วย
  • วิธีนี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สมาชิกในทีมจะรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันความคิดและความเชี่ยวชาญของตนมากยิ่งขึ้น
  • ผู้ตัดสินใจจะใช้การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกและมุมมองทั้งหมด เพื่อชั่งน้ำหนักก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้าย

การตัดสินใจด้วยการลงคะแนนเสียง หรือการโหวต วิธีการนี้สามารถสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันและความเป็นประชาธิปไตยภายในทีมได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้โหวตไม่มีความสมดุลทางอารมณ์ การลงคะแนนเสียงอาจนำไปสู่การแบ่งแยก เกิดการโหวตที่ผู้ชนะอาจแสดงออกซึ่งความสะใจ และผู้แพ้ที่จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญ

การบูรณาการ SEL:

  • SEL ช่วยสร้างกระบวนการลงคะแนนเสียงที่มีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบซึ่งเป็นหนึ่งในสมรรถนะหลักของ SEL จะกระตุ้นให้เกิดการลงคะแนนเสียงโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ มาตรฐานทางจริยธรรม และผลที่ตามมาในระยะยาว ไม่ใช่แค่เพียงความคิดเห็นส่วนใหญ่
  • ผู้นำควรแสดงความขอบคุณสำหรับความคิดทั้งหมดที่แบ่งปันมา และทำให้ทุกคนทราบว่าความคิดเห็นของพวกเขาได้รับการให้ความสำคัญ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

ฉันทามติเป็นวิธีการตัดสินใจที่ครอบคลุมที่สุด ฉันทามติต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ผู้นำและสมาชิกในทีมต้องรับฟังมุมมองและอารมณ์ของกันและกันอย่างแท้จริง เป็นเรื่องของการค้นหาจุดร่วม แม้ว่าบางอย่างอาจไม่ตรงใจกับเราทั้งหมดก็ตาม ดังนั้น ทักษะการจัดการตนเองจึงเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากสมาชิกในทีมต้องควบคุมอารมณ์ของตนเอง หลีกเลี่ยงความหงุดหงิด และอดทนระหว่างการพูดคุยที่ยาวนาน

การบูรณาการ SEL:

  • ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills) ช่วยให้กลุ่มทำงานร่วมกันจนกว่าจะบรรลุข้อตกลงที่เป็นฉันทามติเมื่อทีมตัดสินใจด้วยฉันทามติไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ ไดนามิคภายในทีม และการโฟกัสเป้าหมาย ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกคนรู้สึกว่าตนได้มีส่วนสนับสนุนผลลัพธ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่น
  • การบรรลุฉันทามติถือเป็นแนวทางที่ดีเมื่อการตัดสินใจนั้นส่งผลกระทบต่อพลวัตของทีม เช่น การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรหรือโครงสร้างของทีม
  • ด้วย SEL พวกเขาไม่เพียงแต่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเท่านั้น แต่ยังทำให้มั่นใจว่ากระบวนการนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


เมื่อใดควรหยิบแนวทางใดไปใช้?

เมื่อเราได้สำรวจวิธีการตัดสินใจทั้งสี่แนวทางแล้ว คุณอาจสงสัยว่าเมื่อใดควรหยิบแนวทางใดมาใช้ คำตอบคือ “ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ทีมงาน และเวลาที่คุณมี” ซึ่งอาจพิจารณาจากแนวทางสั้นๆ นี่ได้

  • Command (ตัดสินใจแบบสั่งการ): ใช้เมื่อต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด เช่น ในภาวะวิกฤตหรือเหตุฉุกเฉิน เมื่อใช้ SEL อย่าลืมสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจและยอมรับผลกระทบทางอารมณ์ที่การตัดสินใจของคุณอาจมีต่อทีม
  • Consult (ตัดสินใจแบบปรึกษาหารือ): ใช้เมื่อการตัดสินใจมีความซับซ้อนและต้องการข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เมื่อใช้ SEL จะให้คุณค่ากับมุมมองของทุกคน เพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกในทีมรู้สึกว่าได้รับฟังและเคารพ
  • Vote (ตัดสินใจจากการโหวต): ใช้เมื่อคุณต้องการให้ทุกคนมีสิทธิ์พูด แต่เวลาและสถานการณ์อาจไม่เอื้ออำนวยให้มีการพูดคุยกันอย่างยาวนาน เมื่อใช้ SEL ให้รักษาสมดุลของผลที่ตามมาทางอารมณ์ โดยให้แน่ใจว่าผู้ที่ “แพ้” โหวตยังคงรู้สึกว่าได้รับความสำคัญอยู่
  • Consensus (ตัดสินใจด้วยฉันทามติ): ใช้เมื่อการตัดสินใจส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในทีม และคุณต้องการให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อใช้ SEL จะช่วยให้คุณสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันและเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามัคคีในทีมที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

บทสรุป – การเลือกแนวทางการตัดสินใจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสมการเท่านั้น ด้วยการบูรณาการ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) เข้ากับกระบวนการตัดสินใจของคุณ จะช่วยให้ทุกคนในทีมมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะรู้สึกมีคุณค่า ได้รับการฟัง และได้รับความเข้าใจ และยังช่วยเปลี่ยนแปลงไดนามิคของทีม ผลลัพธ์ของการตัดสินใจของคุณและทีมงานเชื่อมโยงกันและยืดหยุ่นมากขึ้น

Infographic, inspired by https://yingyingzux.medium.com/how-do-you-make-a-decision-with-a-group-1c318d58aa57

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

9 หลุมพรางการฟัง

ศิลปะของการฟัง มากกว่าแค่การนั่งฟังเฉยๆ —การฟังเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความตั้งใจ สติ และการจัดการอารมณ์ (ของตัวเราเอง) อย่างเหมาะสม

20 พฤติกรรมที่ช่วยให้คุณน่าเคารพนับถือมากยิ่งขึ้น

“ความเคารพ” เป็นคุณลักษณะทางจิตใจ ที่คนผู้หนึ่งรู้สึกนับถือ ซาบซึ้ง และให้ความสำคัญจนนำพอไปสู่ “การแสดงออกซึ่งความเคารพ” ทางกาย