The Emotion Guidance Scale : เครื่องมือไต่ระดับปรับอารมณ์

The Emotion Guidance Scale

หากคุณพบว่าตัวเองมักมีความเครียดเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือตื่นเช้าขึ้นมาก็มีแต่ความกังวลใจ หรือมักหงุดหงิดรำคาญใจไปหมดกับสิ่งรอบตัว ผมอยากบอกคุณผู้อ่านว่า.. คุณไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นเพียงลำพังครับ! ผมยอมรับว่าตัวเองมีความกังวลใจกับภาระงานคั่งค้างอยู่บ่อยๆ และก็เชื่อว่าหลายคนก็คงกำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้ในรูปแบบที่ต่างกันออกไป

ผมคิดว่ามันคงจะดีเหมือนกันหากในช่วงเวลาที่ชีวิตมีหลายเรื่องราวถาโถมเข้ามา และเรามีเครื่องมือหรือเทคนิคที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจอารมณ์ และบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น


Abraham-Hicks: Emotional Guidance Scale (หรือ มาตราส่วนสำหรับวัดระดับอารมณ์) เครื่องนี้ตัวนี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือ Ask and it is Given ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Esther และ Jerry Hicks โดยแนวคิดหลักของเครื่องมือตัวนี้คือ การคอยวัดระดับ “อารมณ์” ของตัวเราว่าอยู่ในโซนไหน แบบจำลองนี้อธิบายความเชื่อมโยงของอารมณ์ในระดับต่างๆ และตัวเราจะสามารถเลื่อนขั้นจากอารมณ์เชิงลบไปสู่อารมณ์เชิงบวกได้อย่างไร?

ซึ่งระดับอารมณ์และความรู้สึกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ Top of the Scale (ระดับอารมณ์และความรู้สึกเชิงบวก ซึ่งอยู่โซนด้านบน) และBottom of the Scale (ระดับอารมณ์และความรู้สึกเชิงลบ ซึ่งอยู่โซนด้านล่าง)

Top of the Scale (ระดับอารมณ์และความรู้สึกเชิงบวก)

  • Joy/Empowerment/Freedom/Love/Appreciation ความปีติยินดี/ ความเปี่ยมพลัง/ ความรู้สึกอิสระ/ ความรัก/ ความชื่นชมซาบซึ้ง
  • Passion ความหลงใหล
  • Enthusiasm/Eagerness/Happiness ความกระตือรือร้น/ ความสุข
  • Positive Expectation/Belief ความคาดหวังเชิงบวก/ ความเชื่อ
  • Optimism การมองโลกในแง่ดี
  • Hopefulness การมีความหวัง
  • Contentment ความพึงพอใจ

Bottom of the Scale (ระดับอารมณ์และความรู้สึกเชิงลบ)

  • Boredom ความเบื่อหน่าย
  • Pessimism การมองโลกในแง่ร้าย
  • Frustration/Irritation/Impatience ความหงุดหงิดขัดข้องใจ / ความขุ่นเคืองใจ/ความไม่อดทน
  • Overwhelmingness ความรู้สึกท่วมท้น
  • Disappointment ความรู้สึกผิดหวัง
  • Doubt ความระแวงสงสัย
  • Worry ความกังวล
  • Blame การตำหนิ ติเตียน กล่าวโทษ
  • Discouragement ความรู้สึกท้อแท้จิตใจ
  • Anger ความรู้สึกโกรธ
  • Revenge ความรู้สึกเคียดแค้น
  • Hatred/Rage ความเกลียดชัง เป็นศัตรู / ความโมโหไม่พอใจอย่างรุนแรง
  • Jealousy ความอิจฉาริษยา
  • Insecurity/Guilt/Unworthiness ความรู้สึกไม่มั่นคง / ความรู้สึกผิด / ความไม่คู่ควร
  • Fear/Grief/Depression/Despair/Powerlessness ความกลัว / ความเศร้าโศก / ความซึมเศร้า / ความหมดอาลัยตายอยาก / ความสิ้นหวังหมดพลัง

ซึ่งแนวคิดสำคัญ หรือ Key Concepts ของเครื่องนี้คือ
1) อารมณ์เป็นสิ่งนำทาง: อารมณ์ของคุณเป็นเหมือนเข็มทิศภายใน มันให้ข้อมูลย้อนกลับมาที่คุณว่าตอนนี้สภาวะภายในของคุณเป็นอย่างไร? อารมณ์ทางบวกบ่งบอกถึงความสอดคล้อง ในขณะที่อารมณ์ทางลบแสดงถึงความไม่สอดคล้อง

2) พลังของการเลือก: คุณอาจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เสมอ แต่คุณสามารถเลือกได้ว่าจะตอบสนองทางอารมณ์อย่างไร Emotional Guidance Scale เน้นย้ำถึงความสามารถในการเลือกของคุณ ที่จะเปลี่ยนหรือเคลื่อนไปสู่อารมณ์ที่มีความถี่ที่สูงขึ้น

3) ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี: ความจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ “ความสุขเป็นสิ่งชั่วคราว” แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่เราจะต้องรักษาสภาวะอารมณ์เชิงบวกต่างๆ ไว้ เช่น ความพอใจ ความมีความหวัง หรือความกระตือรือร้น สภาวะอารมณ์ที่มีความถี่สูงเหล่านี้ส่งเสริมสุขภาพจิตโดยรวมที่ดีขึ้น


การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) คือ กระบวนการในการได้รับความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็นในการตระหนักรู้และจัดการกับอารมณ์ของตนเอง วางเป้าหมายและบรรลุเป้าหมายเชิงบวก รับรู้และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น สร้างและรักษาความสัมพันธ์เชิงบวก และตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งทั้ง Emotional Guidance Scale และ Social-Emotional Learning มีความเชื่อมโยงกันดังนี้

  • Self-Awareness (การตระหนักรู้ตนเอง): เครื่องมือไต่ระดับปรับอารมณ์นี้ช่วยให้คุณรับรู้และตระหนักรู้อารมณ์ในตนเองมากขึ้น ช่วยให้คุณรู้สึกมีอำนาจภายในที่จะเลือกเปลี่ยนและยกระดับตนเองไปสู่อารมณ์ที่มีความถี่ที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น หากคุณพบว่าตัวเองรู้สึกหวาดระแวง หรือไม่มั่นคง (อารมณ์ที่มีความถี่ต่ำ) คุณสามารถใช้ Emotional Guidance Scale นี้ในการระบุอารมณ์ความรู้สึกตนเอง และปรับเปลี่ยนไปสู่สภาวะทางอารมณ์ที่สูงขึ้น เช่น ความหวังหรือความพึงพอใจ
  • Self-Management (การบริหารจัดการตนเอง): การบริหารจัดการตนเอง คือความสามารถในการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง ซึ่ง Emotional Guidance Scale จะช่วยให้คุณเปลี่ยนจากอารมณ์ที่ความถี่ต่ำไปสู่อารมณ์เชิงบวกมากขึ้นผ่านแนวทางปฏิบัติหรือเทคนิคเฉพาะ ตัวอย่างเช่น หากพบว่าตัวเองอยู่ในสภาวะความโกรธหรือความคับข้องใจ มาตราส่วนอาจเสนอให้ปฏิบัติ เช่น การหายใจลึกๆ เขียนบันทึก หรือการออกกำลังกาย เพื่อช่วยปลดปล่อยอารมณ์เชิงลบเหล่านั้นและเคลื่อนไปสู่สภาวะทางบวกมากขึ้น
  • Relationship-Building (การสร้างสัมพันธภาพ): การตระหนักรู้ตนเองช่วยให้คุณเข้าใจอารมณ์ของตนเองดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น แก้ไขข้อขัดแย้ง และส่งเสริมการสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกทางสังคม การสื่อสาร และบรรยากาศในการทำงานหรือที่บ้าน

วิธีทำงานของEmotional Guidance Scale (หรือ มาตราส่วนสำหรับวัดระดับอารมณ์) คือ อารมณ์ของคุณเปรียบเสมือนเข็มทิศภายใน มันให้ข้อมูลย้อนกลับมาที่คุณว่าตอนนี้สภาวะอารมณ์ความรู้สึกของคุณเป็นอย่างไร? อารมณ์ทางบวกบ่งชี้ว่าคุณกำลังอยู่กระแสของชีวิตที่คุณพึงพอใจ ในทางตรงกันข้ามอารมณ์ทางลบบ่งชี้ถึงความไม่สอดคล้อง เป็นสัญญาณเตือนให้คุณเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อของตนเอง ซึ่งมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

1. ระบุชื่ออารมณ์

บางครั้งที่เรารู้สึกอัดแน่นจุกในอกหรือพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เป็นเพราะสมองของเรากำลังเผชิญความยากลำบากในการประมวลผลสิ่งที่เรารู้สึก ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกสับสนว่าจะไปต่ออย่างไรกับสถานการณ์ตรงหน้าดี? แทนที่จะปิดกั้นอารมณ์ของคุณ คุณควรหายใจเข้าลึกๆ ควบคุมสติ และถามตัวเองว่า “ทำไมฉันถึงรู้สึกแบบนี้” ซึ่งคำตอบอาจจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น:

  • “ฉันรู้สึกริษยาเพื่อนร่วมงานของฉัน เพราะเขาได้รับการขึ้นเงินเดือน ทั้งๆ ที่เขาไม่มีผลงานอะไรที่โดดเด่นเลย” (ความริษยา)
  • “ฉันรู้สึกเศร้าที่เพื่อนสนิทกำลังจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ฉันกังวลว่าเราอาจห่างเหินกันและสูญเสียมิตรภาพ” (ความวิตกกังวล)
  • “ทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดี เพราะเธอคนเดียวกลับทำมันพังทลาย” (ความรู้สึกโกรธแค้น)

สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าคำตอบของคุณจะเป็นอย่างไร คุณไม่ผิดที่จะมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นนั้น ไม่มีอารมณ์ใด “ที่ผิด” เพราะอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมานี้ “มันจริง” กับตัวคุณในขณะนั้นๆ (There are no bad emotions. Your feelings are valid.)

2. ยอมรับอารมณ์

ขั้นตอนนี้คือ “การยอมรับและหยุดความคิดที่ไม่ให้ประโยชน์หรือให้คุณค่า” คุณไม่จำเป็นต้องตำหนิตัวเอง “ว่าทำไมฉันถึงรู้สึกอย่างนั้น” ในทางตรงกันข้าม คุณควรรู้สึกขอบคุณตัวเองที่สามารถระบุชื่อและแยกแยะอารมณ์ของตนเองได้ ดังนั้น เมื่อคุณระบุชื่ออารมณ์ได้แล้ว ก็แค่ยอมรับว่าตนเองมีอารมณ์นั้นๆ เกิดขึ้น

3. ยกระดับอารมณ์

ขั้นตอนสุดท้ายคือการยกระดับอารมณ์ หลังจากยอมรับและแช่อยู่กับอารมณ์นั้นๆ มาระยะหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่ต้องไปต่อ… วิธีหนึ่งที่ดีคือ การตั้งคำถามกับตนเอง [อ่านเรื่องราวของการตั้งคำถามทรงพลัง ที่นี่…] ตัวอย่างคำถามเช่น ฉันทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้บ้าง? ถ้าทำได้.. ฉันจะทำอะไร? / ถ้าทำไม่ได้.. ฉันจะแก้ไขวิธีการตอบสนองของฉันอย่างไร? เป็นต้น

บทสรุป —อารมณ์ทางบวกนำไปสู่จิตใจเชิงบวก และด้วยจิตใจเชิงบวก มันจะง่ายขึ้นในการเข้าถึงคลื่นความถี่แห่งความสุข ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งรวมไปถึงการตัดสินใจ และการแสดงออกของพฤติกรรมทางบวกด้วย ดังนั้น รูปแบบของความสุขจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ขึ้นอยู่กับการเลือกมุมมองของตัวคุณ

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

12 เทคนิคบริหารเวลา แบบคนจัดการตัวเองเก่ง
12 เทคนิคบริหารเวลา แบบคนจัดการตัวเองเก่ง

12 เทคนิคบริหารเวลา แบบคนจัดการตัวเองเก่ง ไม่เพียงแค่ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น แต่ยังฝึกให้คุณจัดการตัวเองได้อย่างมีวินัย และตระหนักรู้ตนเอง

4 เฟสการฟังอย่างตั้งใจ
4 เฟสการฟังอย่างตั้งใจ

ใการฟังอย่างตั้งใจไม่ใช่แค่ “การได้ยินคำพูด” แต่คือ การเชื่อมโยงกับผู้พูดด้วยใจจริง และนี่คือ 4 เฟสการฟังอย่างตั้งใจ

ทักษะการยอมรับ (Acceptance)
ทักษะการยอมรับ (Acceptance)

“ยอมรับ” คำง่ายๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่กลับเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการอารมณ์และความเครียดในชีวิตประจำวัน : ทักษะการยอมรับ (Acceptance)