✦ Key Takeaways
1) การรับฟัง คือ การยอมรับที่จะฟัง และการรับฟังไม่ใช่การฟังแค่เฉพาะสิ่งที่เราอยากฟัง แต่เป็นการตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายอยากพูดหรืออยากสื่อสารออกมา
2) จากผลการศึกษาวิจัยโดยคุณออตโต ชาร์เมอร์ ได้แบ่งระดับการฟังไว้ 4 ระดับ (Otto Scharmer’s 4 Levels of Listening) ได้แก่ LEVEL 1: รับฟังแบบ Autopilot/Downloading / LEVEL 2: Factual Listening (รับฟังแบบเปิดความคิด) / LEVEL 3: Empathic Listening (รับฟังแบบเข้าอกเข้าใจ) / LEVEL 4: Generative Listening (รับฟังเพื่อการเติบโตพัฒนา)
คำถามที่ว่า “คุณฟังอยู่จริงๆ หรือเปล่า…?” ดูเหมือนเป็นคำถามเรียบง่ายแต่กลับสะท้อนความเป็นจริงในโลกปัจจุบันได้อย่างเจ็บแสบ โลกที่เต็มไปด้วยเสียงแจ้งเตือนจาก Notification ต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่คอยกระตุ้นเร้าเราอยู่ตลอดเวลา การพูดคุยหรือรับฟังลดลงเหลือเพียงการส่งข้อความหรือการคอมเม้นท์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดคำถามตัวโตๆ ว่า “…นี่เรากำลังเชื่อมต่อกับผู้อื่นในระดับที่มีความหมาย มีการพูดคุยและรับฟังกันจริงๆ หรือไม่?
การได้พูดคุย แบ่งปันความรู้สึก หรือการรับฟังกลายเป็นสิ่งที่หายากและมีคุณค่าอย่างมาก… บทความนี้อยากชวนคุณผู้ฟังโฟกัสที่ทักษะที่สำคัญมากตัวหนึ่ง ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relationship skill) ซึ่งก็คือ ทักษะการฟัง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญหนึ่งใน การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (social and emotional learning; SEL)
เรื่องราวจากหนังสือ Input โดยอาจารย์ซิออน คาบาซาวะ ได้สรุปคำว่า “การรับฟัง” ไว้อย่างน่าสนใจว่า —การรับฟังมีความหมายตรงตัวคือ การยอมรับ → ที่จะฟัง และการรับฟังไม่ใช่การฟังแค่เฉพาะสิ่งที่เราอยากฟัง แต่เป็นการตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายอยากพูดหรืออยากสื่อสารออกมา —ซึ่งเป้าหมายอีกข้อของการฟังคือ การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความสำคัญของตนเอง “…เขาตั้งใจฟังฉันพูด …เขายอมรับในตัวฉัน”
เทคนิคการฟัง 4 ระดับของชาร์เมอร์
จากผลการศึกษาวิจัยโดยคุณออตโต ชาร์เมอร์ ได้แบ่งระดับการฟังไว้ 4 ระดับ (Otto Scharmer’s 4 Levels of Listening) ได้แก่ Downloading, Factual Listening, Empathic Listening และ Generative Listening
LEVEL 1: Autopilot/Downloading (การรับฟังแบบอัตโนมัติ)
ระดับการฟังแบบพื้นฐานที่สุด เราฟังโดยใช้ระบบอัตโนมัติ กรองข้อมูลผ่านชุดความเชื่อ ประสบการณ์ และการตัดสินจากตัวเรา
- ตัดสินสิ่งที่ฟัง
- เลือกฟังเฉพาะสิ่งที่ตรงกับความเห็นตนเอง
- ดูเหมือนฟังแต่ใจอาจไม่อยู่กับคนตรงหน้า
LEVEL 2: Factual Listening (การรับฟังเชิงข้อเท็จจริง)
เป็นระดับการฟังที่เปลี่ยนโฟกัสไปที่เนื้อหาของข้อความ มุ่งหวังที่จะเข้าใจข้อเท็จจริง และรายละเอียดต่างๆ
- พยายามจับประเด็น สนใจในเรื่องราว
- ถามคำถามเพื่อเคลียร์ความเข้าใจ
- ไม่มีการเปรียบเทียบกับความเห็นเดิมของตนเอง
- อาจมีบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ฟัง (แต่วางความคิดเพื่อฟังต่อ)
- ไม่พูดแทรก ไม่แย่งซีน ไม่เผลอชี้แนะหรือสอนสั่ง
LEVEL 3: Empathic Listening (การรับฟังแบบเข้าอกเข้าใจ)
เป็นการรับฟังที่พยายามทำความเข้าใจอารมณ์และมุมมองของผู้พูด เราพยายามมองโลกผ่านมุมมองของพวกเขา เป็นการฟังที่เราพยายามเชื่อมต่อกับผู้พูด
- ฟังได้มากกว่าแค่ข้อเท็จจริง
- ฟังแบบมองผ่านความคิด ความรู้สึกของเขา
- เข้าอกเข้าใจ รับรู้ในสิ่งที่เขารู้สึก (โดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง)
- ไม่เปรียบเทียบตัวเขากับคุณค่าที่ยึดถือของตัวเรา
- สังเกตในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด เช่น ภาษากาย สีหน้า
LEVEL 4: Generative Listening (การรับฟังเพื่อการเติบโตพัฒนา)
นี่คือจุดสูงสุดของการรับฟัง เราก้าวข้ามคำพูดของผู้พูดและพยายามต่อยอดไปถึงการทำความเข้าใจเชิงลึก การมองหาแนวคิดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
- เป็นการฟังที่ก้าวไปไกลกว่าการเชื่อมต่อกับผู้พูด
- พยายามเชื่อมต่อกับ Core ideas เพื่อมองหาความเป็นได้หรือโอกาสใหม่ๆ
- กระตือรือร้น ค้นหาพลัง มองไปข้างหน้า
เทคนิคฝึกฝนการฟังแบบชาร์เมอร์
เมื่อผสมผสานกรอบการฟังของชาร์เมอร์เข้ากับชุดเครื่องมือการสื่อสาร สามารถช่วยปลดล็อกโลกแห่งการฟังการทำความเข้าใจของตัวคุณให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น และการตัดสินใจที่ดียิ่งใหญ่ขึ้น นี่คือเคล็ดลับในการพัฒนาทักษะการฟังของคุณ:
- จงมีสติ: ให้ความสนใจกับผู้พูดตรงหน้าอย่างเต็มที่
- ฝึกความเห็นอกเห็นใจ: ยอมรับสิ่งที่รับฟังโดยไม่ตัดสิน และคอยตรวจสอบความรู้สึกของผู้พูดอยู่เสมอ
- ถามคำถามปลายเปิด: กระตุ้นให้ผู้พูดได้ขยายความและเจาะลึกมากขึ้น
- อย่ากลัวเมื่อเกิดความเงียบ: ฝึกมายเซ็ตว่าความเงียบเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และรอได้ถ้ายังไม่ได้มีใครจะพูดอะไร
โดยสรุป —คนที่รับฟังเป็น! กลายเป็นสิ่งหายากในยุคปัจจุบัน การที่เราสามารถฝึกฝนทักษะการรับฟังได้ ยอมเกิดประโยชน์กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเสริมบุคคลิกของการเป็นผู้นำ การดูเป็นคนที่อยู่ใกล้ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ รวมทั้งการได้เชื่อมโยงโลกภายนอก (ผ่านเสียงที่ได้รับฟัง) และโลกภายนอก (ผ่านอารมณ์และความรู้สึก)
References:
Scharmer, O. (2018). The Essentials of Theory U: Core Principles and Applications. CA: Berrett-Koehler Publishers.