✦ Key Takeaways
1. คำถามปลายปิด คือ คำถามที่มุ่งยืนยันข้อมูล จำกัดข้อมูลให้แคบลง และช่วยขจัดความสับสนให้เคลียร์ขึ้น
2. คำถามปลายเปิด คือ คำถามที่เปิดให้ผู้ตอบได้มีอิสระในการตอบ (free-form answer) จากมุมมอง ความคิดเห็น และความรู้สึกของตัวผู้ตอบเองได้อย่างเต็มที่
3. การใช้คำถามปลายเปิดเพียงอย่างเดียวอาจนำไปสู่การพูดคุยอย่างไร้จุดหมาย ในขณะที่การใช้คำถามปลายปิดมากเกินไปส่งผลให้ข้อมูลบางส่วนขาดบริบท ดังนั้น การบาลานซ์การใช้คำถามทั้งสองแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ
คุณเคยชวนใครบางคนคุยแต่ได้รับคำตอบกลับมาแค่ “อืม..” “โอเค..” หรือคำตอบที่มากกว่านี้ไม่เกินสองสามคำหรือเปล่า หรือคุณเคยถามเพื่อนร่วมงานของคุณว่า “วันนี้เป็นยังไงบ้าง?” และเขาตอบกลับมาแค่ “ก็ดี!” ในสถานการณ์เช่นนี้บางทีปัญหาอาจจะไม่ได้เกิดจากคู่สนทนาเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากวิธีที่คุณตั้งคำถามก็อาจเป็นได้!
เวลาเราพูดถึงคำว่า “คำถาม” โดยทั่วไปเราจะนึกถึงคำถาม 2 ประเภท ได้แก่ คำถามปลายเปิด (Open-ended questions) และคำถามปลายปิด (Close-ended questions) แต่วันนี้ผมจะพาเจาะให้ลึกลงไปอีกกับประเภทคำถามย่อยต่างๆ ดังนี้
คำถามปลายปิด (Close-ended questions) คืออะไร?
คำถามปลายปิด คือ คำถามที่มุ่งยืนยันข้อมูล จำกัดข้อมูลให้แคบลง และช่วยขจัดความสับสนให้เคลียร์ขึ้น ผู้ตอบสามารถเลือกตอบได้ง่าย คำถามปลายปิดมักจะโฟกัสไปที่รูปแบบคำถามทั้ง 3 ประเภท ดังนี้
- คำถามแบบใช่/ไม่ใช่ (Yes/no questions)
- คำถามแบบปรนัย (Multiple-choice questions)
- คำถามแบบปรนัยอื่นๆ (เช่น Likert Scale, Rating Scale, Checklist, Rank Order)
ตัวอย่างคำถามปลายปิดแบบใช่/ไม่ใช่ (Yes/no questions) – เป็นคำถามที่มีคำตอบเพียงคำตอบเดียวหรือคำตอบสั้นๆ เช่น ใช่/ไม่ใช่ จริง/เท็จ
- คุณเคยเดินทางไปต่างประเทศไหม?
- ปัจจุบันคุณทำงานที่นี้มาแล้วกี่ปี?
- คุณกำลังรู้สึกเสียใจอยู่ใช่หรือไม่?
ตัวอย่างคำถามปลายปิดแบบปรนัย (Multiple-choice questions) – เพื่อจำกัดขอบเขตของคำตอบให้แคบลงไปจนถึงประเด็นที่เฉพาะเจาะจง
- ช่วงนี้คุณให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง?
- ในอีกสิบสองเดือนข้างหน้าคุณมีแผนจะทำอะไรบ้าง?
- ช่วงนี้คุณใช้โซเชียลมีเดียใดบ่อยที่สุด? A) TikTok B) Instagram C) Facebook D) X
ตัวอย่างคำถามปลายปิดแบบปรนัยอื่นๆ (เช่น Likert Scale, Rating Scale, Checklist, Rank Order) – เพื่อวัดระดับมุมมอง เจตคติ หรือความรู้สึกของผู้ตอบให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
- จากคะแนน 1-10 คุณให้คะแนนตนเองเท่าไหร่ในการทำงานชิ้นนี้
- คุณให้คะแนนความพึงพอใจในการเข้าใช้บริการครั้งนี้เท่าไหร่ (ระดับ 1 น้อยที่สุด – ระดับ 5 มากที่สุด)
- เรียงลำดับสิ่งที่คุณให้ความสำคัญที่สุดในชีวิต (ตัวเลือก Rank Order)
ควรใช้คำถามปลายปิดเมื่อใด?
- เมื่อต้องการแปลงความคิดเห็น ความรู้สึก มุมมอง หรือพฤติกรรมบางอย่างให้เป็นข้อมูลตัวเลข เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างชัดเจน
- เมื่อต้องการเก็บข้อมูลจากคนหมู่มาก (หากเราถามตัวคำถามปลายเปิดอาจได้ข้อมูลที่ล้นจนมากเกินไป)
- เมื่อคำตอบสั้นๆ ก็เพียงพอแล้ว ตัวอย่างเช่น คุณกำลังรวบรวมข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงบางอย่าง คุณอาจไม่ได้ต้องการปริมาณข้อมูลที่มากเมื่อเทียบกับการถามด้วยคำถามปลายเปิด ดังนั้น การใช้คำถามปลายปิด จึงเป็นรูปแบบคำถามที่สามารถตอบได้อย่างรวดเร็วและง่ายต่อการวิเคราะห์ สั้นและตรงประเด็น ให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นหมวดหมู่
คำถามปลายเปิด (Open-ended questions) คืออะไร?
คำถามปลายเปิด คือ คำถามที่เปิดให้ผู้ตอบได้มีอิสระในการตอบ (free-form answer) จากมุมมอง ความคิดเห็น และความรู้สึกของตัวผู้ตอบเองได้อย่างเต็มที่ โดยทั่วไปแล้วคำถามปลายเปิดมักต้องการคำตอบที่ยาวกว่า สมบูรณ์กว่า และมีความหมายมากกว่า และไม่มีคำตอบที่ ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ แต่เป็นคำตอบที่สะท้อนมาจากประสบการณ์ของตัวผู้ตอบเอง คำถามปลายเปิดแบ่งออกเป็นสามประเภท ดังนี้
- คำถามปลายเปิด/วัตถุวิสัย (Open/Objective Questions)
- คำถามปลายเปิด/อัตวิสัย (Open/Subjective Questions)
- คำถามปลายเปิด/การคาดการณ์ (Open/Speculative Questions)
ตัวอย่างคำถามปลายเปิด/วัตถุวิสัย – เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม (คำถามข้อนี้กระตุ้นให้ผู้ตอบให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงหรือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจกระทำบางอย่าง)
- คุณใช้เวลาในแต่ละวันอย่างไรบ้าง?
- กิจวัตรประจำวันของคุณมีอะไรบ้าง?
ตัวอย่างคำถามปลายเปิด/อัตวิสัย – เพื่อให้ได้ความรู้สึกหรือมุมมองส่วนบุคคล (คำถามข้อนี้ช่วยในการทำความเข้าใจอารมณ์และแรงจูงใจของผู้ตอบ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกเขาได้)
- คุณรู้สึกอย่างไรกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน?
- ส่วนใดของกิจวัตรประจำวันที่คุณชอบหรือไม่ชอบ เพราะอะไร?
ตัวอย่างคำถามปลายเปิด/การคาดการณ์ – เพื่อกระตุ้นความคิด ไอเดีย หรือคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคต (คำถามข้อนี้มักจะอยู่ในรูปแบบของคำถาม “จะเกิดอะไรขึ้นหากว่า…” หรือ “สมมุติว่า…”)
- หากคุณสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของคุณได้ คุณจะเปลี่ยนอะไร?
- ในอนาคต คุณคิดว่ากิจวัตรประจำวันของคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?
ควรใช้คำถามปลายเปิดเมื่อใด?
- เมื่อต้องคู่สนทนาตอบได้อย่างเปิดกว้างและลงรายละเอียด *ซึ่งแตกต่างจากคำถามปลายปิดที่จำกัดคำตอบเพียงไม่กี่คำหรือการให้คะแนน คำถามปลายเปิดจะมีความยืดหยุ่นในการแสดงออกอย่างเต็มที่มากกว่า
- เมื่อต้องการให้เกิดการสำรวจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับมุมมอง ความคิด และอารมณ์ความรู้สึก (เช่น แรงจูงใจภายใน ความกลัว ความฝัน และความเชื่อที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมและการตัดสินใจของพวกเขา)
- เมื่อต้องการส่งเสริมการสื่อสารแบบสองทาง (Two-Way Communication)
- เมื่อต้องการสร้างสายสัมพันธ์และความไว้วางใจ (Rapport and Trust) ด้วยการให้อิสระแก่ผู้ตอบในการแบ่งปันมุมมอง ความคิดเห็น และความรู้สึก ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าตนเองได้รับความสนใจอย่างแท้จริง รู้สึกว่าได้รับการรับฟัง ได้รับความเคารพ และมีส่วนร่วม
- เมื่อต้องการส่งเสริมการคิดที่แตกต่าง การคิดแบบเปิดกว้าง/หลากหลาย ในทางตรงกันข้ามหากคุณต้องการคำตอบที่รวดเร็ว หรือคำตอบที่เจาะจง ให้คุณเลือกใช้คำถามปิดแทน
คำถามปลายเปิดส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL)
คำถามปลายเปิดเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม คำถามเหล่านี้ช่วยให้ทั้งเด็ก (และผู้ใหญ่) พัฒนาทักษะสำคัญ เช่น การตระหนักรู้ภายในตนเอง (Self-awareness) การแสดงออกทางอารมณ์ (Self-expression) ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และการคิดไตร่ตรอง (Reflective thinking) ดังนี้
- พัฒนาการตระหนักรู้ภายในตนเอง (Self-awareness): คำถามปลายเปิด เช่น “ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไร?” หรือ “คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับสถานการณ์นี้?” เป็นคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการสะท้อนตนเอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL)
- ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ (Empathy): เมื่อเราถามคำถามปลายเปิดซึ่งกันและกัน เช่น “ทำไมคุณถึงคิดว่าพวกเขาตอบสนองแบบนั้น?” “คุณรู้สึกอย่างไรในสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่?” พวกเขาจะเริ่มเข้าใจและเห็นคุณค่าของมุมมองของผู้อื่น
- พัฒนาทักษะการสื่อสาร (Effective communication): โดยการตั้งและตอบคำถามปลายเปิด ผู้คนจะเรียนรู้ที่จะแสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกของตนเอง และได้รับฟังมุมมองของผู้อื่นด้วย
- สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น (Relationships skills): การสื่อสารแบบเปิดช่วยให้คุณสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจกับบุคคลตรงหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกัน
- เพิ่มการมีส่วนร่วม (Boost Engagement): ผู้คนมีแนวโน้มที่จะอยากพูดมากกว่ารับฟัง เมื่อพวกเขารู้สึกว่าได้รับการรับฟัง ก็นำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การมีส่วนร่วม และความร่วมมือ
ข้อมูลจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of School Psychology พบว่าโปรแกรมที่ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของทักษะทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนอย่างมีนัยะสำคัญทางสถิติ
ควรตอบสนองอย่างไรต่อคำถามปลายเปิด?
1. ฟังอย่างไม่ขัดจังหวะ
– การอนุญาตให้ผู้ตอบตอบคำถามปลายเปิดโดยไม่ขัดจังหวะหรือหยุดชะงัก เป็นการแสดงให้เห็นถึงทักษะการฟังเชิงรุกที่ให้พื้นที่สำหรับคำตอบ
– การกระโดดเข้ามาตัดบทสนทนาเร็วเกินไป อาจทำให้เราสูญเสียของมูลเชิงลึกบางอย่างจากคำตอบที่กำลังจะเกิดขึ้นได้
– ความเงียบหลังจากถามคำถามปลายเปิดอาจทำให้รู้สึกอึดอัด แต่การปล่อยให้มีความเงียบเกิดขึ้นบ้างก็เป็นสิ่งดี เพราะช่วยให้ผู้ตอบมีช่วงว่างในการไตร่ตรองคำตอบของตนเองได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
– เมื่อเราเปิด “การรับฟัง” จะไม่มีการตัดสินตั้งแต่ต้นจนจบ แต่จะพยายามทำความเข้าใจมุมมองทั้งหมดของพวกเขา
2. ตั้งคำถามต่อยอดจากคำตอบ (Follow-Up Questions)
– ตัวอย่างเช่น “อะไรผลักดันให้เกิดการตัดสินใจครั้งนั้น..?” หรือ “การตัดสินใจนั่นทำให้คุณรู้สึกอย่างไร..?” คำถามต่อยอดจากคำตอบลักษณะนี้ แสดงให้เห็นถึงความสงสัยใคร่รู้ที่จะเรียนรู้ให้ลึกขึ้น มากกว่าที่ฟังในระดับผิวเผิน
3. โฟกัสที่วัตถุประสงค์ของการพูดคุย โดยไม่มีการตัดสิน
– สิ่งที่สำคัญคือน้ำเสียงและภาษากายจะต้องเป็นกลางและไม่มีการตัดสิน แม้ว่าคำตอบจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกภายในก็ตาม
– พยายามสบตาและแสดงท่าทางที่มีส่วนร่วม โดยวางความรู้สึกส่วนตนไว้ก่อน หลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย หรือตกใจอย่างชัดเจน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้น
– ระลึกไว้เสมอว่าเป้าหมายคือ การได้ข้อมูลเชิงลึกที่มาจากมุมมองของผู้ตอบ ไม่ใช่ความสอดคล้องของตัวคุณเอง *ละทิ้งอคติ การวิพากษ์วิจารณ์ของคุณเพื่อแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงใจและเปิดกว้าง
4. ปรับคำถามไปตามบริบทของสถานการณ์
– การใช้คำถามปลายเปิดให้ประสบความสำเร็จต้องอ่านบริบทของสถานการณ์และปรับคำถามและเทคนิคการติดตามผลให้เหมาะสม
– พิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ด้วย เช่น สถานะความสัมพันธ์ รูปแบบทางการ/ไม่ทางการ การจำกัดเวลา การตอบสนอง และพลังงานของผู้ตอบ
5. บาลานซ์การใช้คำถามปลายปิดและคำถามปลายเปิด
– พัฒนาความเชี่ยวชาญในการผสมผสาน การจัดลำดับ ระหว่างรูปแบบคำถามทั้งสองแนวทาง เช่น ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อสำรวจประเด็นหลัก และใช้คำถามปลายปิดเพื่อยืนยันข้อสรุป
– คีย์สำคัญของคำถามปลายเปิดคือ ช่วยเปิดเผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกด้วยคำพูดของผู้ตอบเอง / คำถามปลายปิด มุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเท็จจริงเชิงปริมาณ (แปลงออกมาเป็นค่าตัวเลขที่ง่ายต้องการนำไปวิเคราะห์ผลต่อไป)
– การใช้คำถามปลายเปิดเพียงอย่างเดียวสามารถนำไปสู่การพูดคุยอย่างไร้จุดหมาย ในขณะที่การใช้คำถามปลายปิดมากเกินไปส่งผลให้ข้อมูลบางส่วนขาดบริบท
บทสรุป – การปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารของเราไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความตระหนักรู้ในตนเอง และการฝึกฝนในระดับสูง แต่การเรียนรู้ที่จะบาลานซ์ทั้งคำถามปลายปิดและคำถามปลายเปิดจะเป็นทักษะที่มีประโยชน์ต่อคุณทั้งในด้านการพัฒนาตนเองและด้านอาชีพ ไม่ว่าเราจะพึ่งพาการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์มากแค่ไหน ก็ไม่น่าจะมีอะไรมาแทนที่การสนทนาของมนุษย์ได้ มันเป็นศิลปะที่ควรค่าแก่การปรับปรุง
References:
Durlak, J. A., Weissberg, R. P., Dymnicki, A. B., Taylor, R. D., & Schellinger, K. B. (2011). The impact of enhancing students’ social and emotional learning: A meta-analysis of school-based universal interventions. Child Development, 82(1), 405-432.
Jones, D. E., Greenberg, M., & Crowley, M. (2015). Early social-emotional functioning and public health: The relationship between kindergarten social competence and future wellness. American Journal of Public Health, 105(11), 2283-2290.
National Institute of Child Health and Human Development (NICHD). (2000). Report of the National Reading Panel: Teaching children to read: An evidence-based assessment of the scientific research literature on reading and its implications for reading instruction. (NIH Publication No. 00-4769). Washington, DC: U.S. Government Printing Office.