“การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมด้านอารมณ์และสังคมอีกด้วย”
การปิดโรงเรียนและหยุดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ส่งผลให้เด็กและวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 13 ของเด็กทั่วโลกเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอันเป็นผลมาจากความรู้สึกไม่แน่นอน ความกลัว รู้สึกโดดเดี่ยว เครียด และแปลกแยกจากสังคม (องค์การยูนิเซฟ, 2021) จากสถานการณ์นี้ทำให้หลายภาคส่วนเริ่มตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญของการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมมากขึ้น (Social and Emotional Learning; SEL)
การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) คือ คีย์สำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการทำความเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ของตนเอง, สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก, ตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ, และรับมือกับความท้าทายในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
…………………..
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การบูรณาการการจัดการเรียนทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) เข้าไปในชั้นเรียน มีแนวโน้มที่จะเกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสำหรับเยาวชน ทั้งภายในโรงเรียนและต่อเนื่องไปสู่ชีวิตหลังจบการศึกษาไปแล้ว (Elias, 2014; Jones & Kahn, 2017) ซึ่งประโยชน์ของการนำ SEL ไปใช้ในสถานศึกษานั้นยังสะท้อนไปถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนในภาพรวมด้วย ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1) การเรียนทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) → นำไปสู่การรับรู้ตนเอง (Self-Awareness) และการจัดการตนเอง (Self-Management)
– นักเรียนที่สามารถอ่านอารมณ์ทางสีหน้าได้อย่างแม่นยำและกำหนดอารมณ์ของตนเองต่อสถานการณ์ได้เหมาะสม พบว่ามีประสิทธิภาพทางด้านวิชาการดีขึ้น มีปัญหาพฤติกรรมน้อยลง และแสดงพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น (เช่น การแบ่งปัน หรือช่วยเหลือผู้อื่น)
– นักเรียนระดับประถมปีที่ 1 ที่ไม่ค่อยได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์หรือความรู้สึก พบรายงานตอนตนเองอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ว่ามีความรู้สึกเหงา เศร้า และวิตกกังวลมากกว่านักเรียนที่เคยได้รับการเรียนรู้
– นักเรียนทุกวัยที่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ หรือคอยเฝ้าติดตาม ประเมิน และสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอ พบว่ามีทักษะในการเผชิญกับปัญหาและความยืดหยุ่นที่ดี ซึ่งสามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลในระยะสั้นได้
2) การเรียนทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) → ปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (academic achievement)
– นักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรม SEL จะมีระดับการรับรู้ “หน้าที่ของตนเองสูงขึ้น” ซึ่งสะท้อนจากเกรด คะแนนสอบ การเข้าเรียน และการบ้านที่สำเร็จ
– ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้รับทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม
– ในระยะยาวพบว่านักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมร้อยละ 13
3) การเรียนทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) → ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี (healthy well-being) และความปลอดภัยในโรงเรียน (safe schools)
– นักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรม SEL มีรายงานด้านความทุกข์ทางอารมณ์ลดลง มีเจตคติเชิงบวกเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น พฤติกรรมที่ไม่เป็นระเบียบวินัยลดน้อยลง
– นักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรม SEL รายงานตนเองว่า รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในห้องเรียน มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับครู และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับโรงเรียนมากขึ้น
– ช่วยลดพฤติกรรมการรังแกผู้อื่นและพฤติกรรมก้าวร้าวในห้องเรียน
บทสรุป – จากข้อมูลที่รวบรวมมานั้นจะพบว่า การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมควรเป็นสิ่งที่ถูกรวมเข้าไปในหลักสูตรการเรียนรู้ เข้าไปในห้องเรียน ให้เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของนักเรียน “ซึ่งการลงทุนใน SEL ไม่เพียงสนับสนุนผลลัพธ์เชิงบวกที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 3 ข้อ แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับชีวิตของพวกเขาในอนาคตด้วย”
References:
UNICEF. (2021). The State of the World’s Children 2021. Retrieved from https://www.unicef.org/reports/state-worlds-children-2021
Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning (CASEL). (2021).
What is SEL? Retrieved from https://casel.org/what-is-sel/
https://casel.org/fundamentals-of-sel/what-does-the-research-say/
https://kappanonline.org/social-emotional-learning-outcome-research-mahoney-durlak-weissberg/
https://ggie.berkeley.edu/student-well-being/sel-for-students-self-awareness-and-self-management/#tab__2