Boss (เจ้านาย) vs. Leader (ผู้นำ) แตกต่างกันอย่างไร?


คุณเคยสงสัยไหมครับว่า… ทำไมบางคนถึงมีแต่คนเต็มใจทำตามหรือรับฟัง ในขณะที่บางคนต้องดิ้นรนเพื่อให้คนยอมทำตามหรือยอมรับฟัง? คำตอบอยู่ที่ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวเลยครับ นั่นคือ “คาริสม่า (Charisma)” หรือลักษณะทางธรรมชาติบางอย่างที่ดึงดูดใจผู้คน

เพราะ “ความสามารถในการชนะใจคน ไม่ใช่ใช้แค่สมอง”  —แต่คือลักษณะและคุณสมบัติหลายด้านของบุคคลนั้น ตัวอย่างเช่น การสื่อสารที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย การปฏิบัติที่จริงใจและตรงไปตรงมา รวมถึงการมีทักษะทางอารมณ์และสังคม บทความนี้ #เพจSELminder อยากชวนคุยถึงความแตกต่างของ Boss (เจ้านาย) กับ Leader (ผู้นำ) คุณเป็นแบบไหนและจะชนะใจคนอื่นได้อย่างไร?



เจ้านายกับผู้นำแตกต่างกันอย่างไร?

ผมอยากให้ลองนึกภาพเรือลำหนึ่ง เจ้านายเปรียบเสมือนกัปตันผู้ควบคุมหางเสือเรือ เขาคอยตะโกนสั่งการ เรียกร้องให้ลูกเรือพายแรงขึ้น ผลักดันให้เร็วขึ้น (โดยอาจไม่สนว่าลูกเรือจะเหนื่อยแค่ไหน) ในทางตรงกันข้าม ผู้นำคือ กัปตันผู้พับแขนเสื้อที่ลงเรือพร้อมกับลูกเรือ และเริ่มพายไปด้วยกัน ให้กำลังใจ สนับสนุน และสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นพายไปด้วยกัน โดยเชื่อมั่นอย่างสุดใจเลยว่า “พลังของทีม” จะพาพวกเขาฝ่าคลื่นลมที่รุนแรงไปได้


5 ความแตกต่างระหว่าง Boss (เจ้านาย) กับ Leader (ผู้นำ)

Boss (เจ้านาย)จุดแตกต่างLeader (ผู้นำ)
ใช้อำนาจในการควบคุมและสั่งการอำนาจ vs. อิทธิพลสร้างความเคารพ และอิทธิพลผ่านความไว้วางใจและการร่วมมือกัน
ให้ความสำคัญกับการทำงานให้เสร็จ อาจมองข้ามความอยู่ดีมีสุขของคนทำงานมุ่งเน้นงาน vs. มุ่งเน้นคนสร้างสมดุลระหว่างการบรรลุเป้าหมาย กับการสนับสนุนความต้องการทางอารมณ์และสังคม
เน้นสั่งการในสิ่งต้องทำ โดยอาจไม่ได้เปิดรับความคิดเห็นสั่งการ vs. สอนงานให้คำแนะนำ ปรึกษา และช่วยให้ทีมเติบโตทั้งทางอารมณ์และเส้นทางอาชีพ
พยายามควบคุมทุกการตัดสินใจและผลลัพธ์ควบคุม vs. ร่วมมือส่งเสริมความร่วมมือ การเปิดใจคุย และการตัดสินใจร่วมกัน
โยนความผิดเมื่อล้มเหลว หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบกล่าวโทษ vs. รับผิดชอบรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนทีมผ่านความท้าทายต่างๆ

พูดกันตามตรง —บางครั้งการเป็น “เจ้านาย” ดูเหมือนจะง่ายกว่า คุณแค่ออกคำสั่ง.. ให้คนอื่นทำตาม.. งานเสร็จตามสั่ง! แต่ผมชวนสังเกตตรงนี้ครับ “การทำตามคำสั่ง” ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าคนผู้นั่นจะทุ่มเทให้ พวกเขาอาจจะแค่ทำให้เสร็จตามสั่ง เพราะต้องทำไม่ใช่เพราะรู้สึกอยากทำ

การเป็นเจ้านายมากเกินไปอาจสร้างวัฒนธรรมแห่งความกลัวหรือวัฒนธรรมที่ยอมตาม ซึ่งจะปิดประตูความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และความกระตือรือร้นของคนภายในทีม แน่นอนคุณอาจพบว่าพวกเขาจะทำงานให้เสร็จ แต่คุณจะสังเกตได้ว่าพวกเขาจะไม่ทุ่มเทเกินหน้าที่ ทำไมนะหรือ..? เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ถูก “ให้คุณค่า” ไงครับ! เขาก็เลยไม่รับรู้ว่าตัวเองมีค่า (เมื่อทำงานกับเจ้านายคนนี้)

ลองนึกภาพต้นไม้สักต้น เจ้านายอาจจะรดน้ำแค่พอให้มันมีชีวิตรอด แน่นอนต้นไม้มันรอดแต่มันจะอ่อนแอไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ในทางกลับกันผู้นำจะไม่ได้แค่รถน้ำ แต่เขาจะพรวนดิน บำรุงเลี้ยงดู และจัดหาพื้นที่ให้มันเติบโต

ทีนี้มาดูอีกด้านหนึ่งกัน ผู้นำจะไม่ได้มุ่งเน้นแค่ผลลัพธ์ —แต่มุ่งเน้นสร้างความผูกพันทางอารมณ์กับผู้คนด้วย *ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่สนใจเป้าหมายหรือละเลยการวางแผนกลยุทธ์นะครับ แต่พวกเขาพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนรู้สึกปลอดภัย มีคุณค่า และได้รับแรงบันดาลใจ เพื่อให้คนผู้นั้นทำงานได้อย่างดีมีประสิทธิภาพที่สุด

#การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) สามารถแยกย่อยออกเป็น 2 ทักษะสำคัญ ได้แก่

  • ทักษะทางอารมณ์ (Emotional) คือ ความสามารถในการเข้าใจอารมณ์-ความคิดตนเอง (Self-awareness) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง (Self-management) และความสามารถในการรับผิดชอบในสิ่งตนเองได้ตัดสินใจ (Responsible decision-making)
  • ทักษะทางสังคม (Social) หมายถึง ความสามารถในการรับรู้และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Social awareness) ความสามารถในการสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์ทั้งทางคำพูดและไม่ใช่คำพูด (Relationship Skills)

(1) การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness)

ผู้นำที่ฝึกฝน SEL พัฒนาการตระหนักรู้ในตนเอง เข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตน จะช่วยให้พวกเขาจัดการอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ที่ท้าทาย — Boss (เจ้านาย) อาจตอบสนองต่อความเครียดหรือแรงกดดันด้วยความหุนหันพลันแล่น ในขณะที่ Leader (ผู้นำ) จะหยุดไตร่ตรอง สังเกตอารมณ์ และตอบสนองอย่างรอบคอบ

(2) การจัดการตนเอง (Self-management)

คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และการกระทำของตนเองได้ — Boss (เจ้านาย) อาจชอบควบคุมให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามแผน แต่เมื่อไม่ได้ดั่งใจอาจโมโห เหวี่ยง วีน ได้ง่าย ในขณะที่ Leader (ผู้นำ) จะเริ่มต้นที่การจัดการตนเองเพื่อรักษาความสงบและความมั่นคงในจิตใจตนเองก่อน และจะเน้นให้คำปรึกษา คำแนะนำ และไว้วางใจให้ทีมแก้ปัญหาด้วยตนเอง นี่เป็นกุญแจสำคัญป้องกันการบริหารงานสไตล์ควบคุมจุกจิก (Micromanagement)

(3) การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness)

Leader (ผู้นำ) ส่วนใหญ่จะมีทักษะการตระหนักรู้ทางสังคมสูง —พวกเขามีความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความต้องการทางอารมณ์ของสมาชิกในทีม ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกมีคุณค่า ซึ่ง SEL ส่งเสริมให้ผู้นำรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้อื่น

(4) ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)

การสร้างความสัมพันธ์เป็นหัวใจสำคัญของความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ตาม SEL ทักษะด้านความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งประกอบด้วยการฟังอย่างตั้งใจ การสื่อสารที่ชัดเจน และความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ —Leader (ผู้นำ) สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งโดยให้คำแนะนำและการสนับสนุน ในขณะที่เจ้านายอาจบ่อนทำลายความไว้วางใจด้วยการมุ่งเน้นเฉพาะคำสั่งและงาน

(5) การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making)

สมรรถนะสุดท้ายใน SEL คือการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมและรอบคอบโดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่น — Boss (เจ้านาย) อาจให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ระยะสั้นโดยแลกกับขวัญกำลังใจของทีม ในขณะที่ผู้นำพิจารณาผลกระทบระยะยาวของการตัดสินใจที่มีต่อทั้งประสิทธิภาพการทำงานและความอยู่ดีมีสุขของทีมงาน


คุณจะกลายเป็นคนที่ชนะใจผู้อื่น และเป็นผู้นำที่มีทักษะทางอารมณ์และสังคมได้อย่างไร ต่อไปนี้คือ 8 เทคนิค ที่จะช่วยให้คุณก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ

(1) ฟังมากกว่าพูด (Listen More Than You Speak)

ผู้นำที่ดีคือผู้ฟังที่ดี พวกเขาใช้เวลาในการรับฟังความกังวล ความคิด และข้อเสนอแนะของทีม ครั้งต่อไปที่คุณอยู่ในที่ประชุม ให้เน้นที่การฟังและสังเกตว่าทีมของคุณรู้สึกเชื่อมโยงและเห็นคุณค่ามากขึ้นเพียงใด

(2) แสดงความเห็นอกเห็นใจ (Show Empathy)

การเข้าใจความรู้สึกและความท้าทายของผู้อื่นช่วยสร้างความไว้วางใจ หากทีมงานกำลังเผชิญกับวันที่แย่.. ผู้นำจะไม่รอช้าที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจ การกระทำอันแสนดีเพียงเล็กน้อยสามารถสร้างความภักดีและความเคารพได้ในระยะยาว

(3) ให้เครดิต (Give Team Credit)

ผู้นำเฉลิมฉลองความสำเร็จร่วมกับทีม อย่ากลัวที่จะฉายแสงไปที่คนอื่น เมื่อทีมประสบความสำเร็จ ให้แสดงความยินดีอย่างจริงใจ การทำเช่นนี้จะสร้างขวัญกำลังใจและแสดงให้เห็นว่าคุณเห็นคุณค่าในความพยายามของพวกเขา

(4) ให้คำแนะนำ ไม่ใช่คำสั่ง (Provide Guidance, Not Orders)

แทนที่จะบอกคนอื่นว่าต้องทำอะไร จงช่วยให้พวกเขาเติบโต ให้คำแนะนำ แบ่งปันความรู้ และให้พวกเขามีอิสระในการเป็นเจ้าของงานของตนเอง คุณไม่ได้แค่จัดการพวกเขา แต่คุณกำลังช่วยให้พวกเขาพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมืออาชีพ

(5) เป็นตัวอย่าง (Lead by Example)

ผู้นำที่แท้จริงจะไม่ขอให้คนอื่น “ทำในสิ่งที่ตัวผู้นำไม่ทำด้วยตัวเอง” ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจนดึกดื่นเพื่อให้ทันกำหนดส่งมอบงานลูกค้า หรืออยากให้ทีมสื่อสารอย่างชัดเจน แต่ตัวผู้นำไม่เคยแม้แต่จะสื่อสารเป้าหมายหรือความคาดหวังเลย เมื่อทีมของคุณเห็นความมุ่งมั่นของคุณ พวกเขาก็จะทำตามอย่างเป็นธรรมชาติ

(6) มีความยืดหยุ่น (Resilient)

ผู้คนมักมองหาผู้นำที่นิ่งสงบภายใต้แรงกดดันและมองหาทางออก มากกว่าที่จะโทษคนอื่น โทษสถานการณ์ หรือมุ่งแต่จะหาคนผิด

(7) ผู้นำที่อ่อนน้อมถ่อมตน (Humble Leadership)

ความถ่อมตน ไม่ได้หมายถึงการโอนอ่อนผ่อนตาม ตามใจ หรือไร้อำนาจ แต่มักจะเป็นคนที่คอยมองเห็นหรือให้คุณค่ากับผู้อื่น โดยพยายามลดความสำคัญของตัวเองลง ทั้งในเชิงการแสดงออกทางกายและทางวาจา ความถ่อมตัวจะช่วยให้คุณเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ในระดับมนุษย์ ทำให้คุณดูเป็นคนน่าเข้าหาและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

(8) มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน (Visionary)

ผู้นำที่ดีจะสามารถกำหนดอนาคตที่จูงใจให้ผู้คนมารวมตัวกันและทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ รวมทั้งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น


บทสรุป —ในท้ายที่สุดแล้ว “ผู้คนไม่ได้ทำตามเจ้านาย แต่พวกเขาทำตามผู้นำ” เมื่อคุณใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ สนับสนุนทีม และเป็นผู้นำด้วยความเห็นอกเห็นใจ คุณกำลังสร้างวัฒนธรรมแห่งความภักดี ความไว้วางใจ และการมีส่วนร่วม “ผู้คนจะไม่ได้แค่ทำงานเพื่อคุณเท่านั้น แต่พวกเขาจะทำงานร่วมไปกับคุณ” และนี่คือจุดแตกต่างระหว่าง Boss (เจ้านาย) กับ Leader (ผู้นำ)

Sources:
https://www.linkedin.com/pulse/boss-vs-leader-navigating-path-effective-leadership-wkvbf
https://www.charlestonsouthern.edu/blog/identifying-differences-between-a-boss-and-a-leader/

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

9 หลุมพรางการฟัง

ศิลปะของการฟัง มากกว่าแค่การนั่งฟังเฉยๆ —การฟังเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความตั้งใจ สติ และการจัดการอารมณ์ (ของตัวเราเอง) อย่างเหมาะสม

20 พฤติกรรมที่ช่วยให้คุณน่าเคารพนับถือมากยิ่งขึ้น

“ความเคารพ” เป็นคุณลักษณะทางจิตใจ ที่คนผู้หนึ่งรู้สึกนับถือ ซาบซึ้ง และให้ความสำคัญจนนำพอไปสู่ “การแสดงออกซึ่งความเคารพ” ทางกาย