“รู้ไหม? อารมณ์ของเรากำลังพยายามบอกอะไรบางอย่างอยู่เสมอ…!” อารมณ์ด้านลบ คือ สัญญาณเตือนว่ามีบางอย่างกำลังรอการแก้ไข ส่วนอารมณ์ด้านบวก คือ รางวัลจากการเลือกทางที่ถูกต้อง… เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “The Subtle Art of Not Giving a F*ck” โดย Mark Manson ที่ผมสะดุดตาและเปลี่ยนมุมมองเรื่องอารมณ์ของผมไปตลอดกาล…
ข้อความนี้ชี้ให้เราเห็นความสำคัญของ “การเข้าใจภาษาของอารมณ์” เพราะมันคือกุญแจสู่การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness) การเข้าใจคุณค่าภายใน และการปรับปรุงชีวิตให้สมดุลมากขึ้น
วันนี้ #SELminder อยากคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลังของ 9 สัญญาณเตือน ที่บ่งบอกว่าคุณกำลังขโมยความสุขจากตัวเอง ผ่านมุมมองของการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม: Social and Emotional Learning (SEL) พร้อมจะค้นพบและเรียนรู้ที่จะฟังและเข้าใจอารมณ์ทั้งสองด้านหรือยัง?
9 นิสัยขโมยความสุข (ที่เรากำลังขโมยออกจากตัวเอง)
1. ใช้ชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการผู้อื่น
- สาเหตุ: การพูด “ใช่” หรือ “ตอบรับ” กับทุกคำขอโดยไม่คำนึงถึงขีดจำกัดของตนเอง หรือละเลยความต้องการของตนเอง มักนำไปสู่ความเครียด ความคับข้องใจ และการสูญเสียตัวตน
- ทางออก: เริ่มต้นที่กลับมาตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ตั้งแต่การสังเกตุอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการ set boundaries ที่เหมาะสมในการจัดการเวลาและวางขอบเขตความสัมพันธ์
2. เก็บกดทุกความรู้สึกไว้ภายใน
- สาเหตุ: การเก็บกดทุกความรู้สึกไว้ในใจบ่อย ๆก็ไม่ต่างอะไรกับภูเขาไฟที่รอวันระเบิด.. ทำให้เกิดความคับแค้นและเศร้าสะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและร่างกาย
- ทางออก: ความจริงที่ต้องยอมรับคือ “อารมณ์และความรู้สึกด้านลบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน” หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบเจอ! คำถามคือ เมื่อมีความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นเราควร “เก็บไว้ในใจ” หรือ “ระบายมันออกมา”?
ตามมุมมองของนักจิตวิทยาคลินิก คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย จากบทความของ Alljitblog อธิบายว่า: ไม่ว่าจะเก็บไว้/หรือระบายออก ทั้งสองวิธีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน:
- การเก็บความรู้สึกไว้อาจเหมาะสมเมื่อเราพิจารณาแล้วว่าการพูดออกไปอาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
- การระบายความรู้สึกเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อเรารู้สึกอึดอัด หรือเห็นว่าหากสื่อสารออกไปจะช่วยแก้ไขสถานการณ์บางอย่างให้ดีขึ้นได้
กุญแจสำคัญคือ ทักษะการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making) ในการเลือกใช้ทั้งสองวิธีอย่างสมดุล —ไม่เก็บกดมากเกินไปจนกระทบต่อสุขภาพจิต ไม่ระบายมากเกินไปจนกระทบความสัมพันธ์ — พิจารณาความเหมาะสมตามสถานการณ์ มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
3. ผูกความสุขไว้กับผู้อื่น
- สาเหตุ: แม้ว่าการมีความสุขจากการอยู่ร่วมกับผู้อื่นจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การผูกโยงความสุขทั้งชีวิตไว้กับบุคคลอื่นเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่รากฐานที่มั่นคงสำหรับความสุขที่ยั่งยืน และอาจนำไปสู่ความผิดหวังเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองตามที่คาดหวัง
- ทางออก: พัฒนาความเมตตาต่อตัวเองและฝึกการอยู่คนเดียว ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ของ SEL ช่วยให้คุณรับมือกับความเหงาได้ดีขึ้น ทำให้คุณสามารถหาความสุขจากภายในได้
4. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่บั่นทอนจิตใจ
- สาเหตุ: สภาพแวดล้อมและคนรอบข้างที่เป็นพิษ (Toxic) มีผลกระทบโดยตรงต่ออารมณ์และทัศนคติของเรา
- ทางออก: ประเมินและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของคุณตามความเหมาะสม SEL สอนให้คุณรู้จักใช้ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills) เพื่อสร้างเครือข่ายที่สนับสนุนและเป็นบวก
5. จดจ่อแต่กับด้านลบของชีวิต
- สาเหตุ: การมองโลกในแง่ร้ายและทัศนคติเชิงลบอาจบดบังประสบการณ์ที่ดีทั้งหมด เมื่อคุณสนใจแต่ด้านลบอยู่เสมอ มันก็ยากที่จะรู้สึกมีความสุข
- ทางออก: ฝึกเขียนบันทึกความขอบคุณ (Gratitude journal) ในแต่ละวัน ช่วยพัฒนาทักษะการจัดการอารมณ์ของตนเอง (Self-management) ช่วยให้คุณเปลี่ยนจุดโฟกัสจากความคิดเชิงลบไปสู่มุมมองที่สมดุลมากขึ้น
6. ไม่เชื่อว่าตนเองคู่ควรกับความสุข
- สาเหตุ: คนที่สงสัยในตัวเองและมีความเชื่อที่จำกัด มักจะมีคำพูดที่ติดปากว่า “ทำไม่ได้หรอก..” “มันเป็นไปไม่ได้…” หรือ “จะทำได้จริงหรอ…” ความเชื่อเหล่านี้อาจทำให้คุณปฏิเสธความสุข รู้สึกไม่คู่ควร และบั่นทอนตัวตน
- ทางออก: ท้าทายความเชื่อเชิงลบด้วยคำพูดยืนยันเชิงบวก พัฒนาทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ช่วยให้คุณค่อยๆ ปรับความเชื่อที่จำกัด มาสู่การรู้จักคุณค่าของตนเอง
7. กลัวการเปลี่ยนแปลง
- สาเหตุ: ความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ทำให้คุณติดอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) และการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอาจทำให้ชีวิตหยุดนิ่งและไม่พัฒนา ทำให้คุณไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง
- ทางออก: เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในตนเอง ส่งเสริมทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ที่ช่วยให้คุณกล้าเผชิญการเปลี่ยนแปลงและเติบโตทีละขั้น
8. มีความรู้สึกขาดภายในจิตใจ
- สาเหตุ: ความรู้สึก “ขาดภายในจิตใจ” ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกขาดการยอมรับ ขาดความชื่นชม ขาดความภูมิใจในตนเอง หรือขาดการเชื่อมโยงกับตัวตนภายใน ทำให้ใจโหยหา “ความสุขมาเติมใจ” อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ยิ่งความรู้สึกขาดเหล่านี้มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ตัวตนหมดแรงไร้พลัง
- ทางออก: หลักการของ SEL เน้นการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ตัวอย่างกิจกรรมเช่น การจดบันทึกความรู้สึก (emotions journal) การสะท้อนตนเอง (self-reflection) ช่วยให้คุณกลับมาเห็นตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
9. ขาดงานอดิเรกที่สร้างความหมาย
- สาเหตุ: เมื่อขาดกิจกรรมที่สร้างความสุขและความภูมิใจ ชีวิตอาจรู้สึกซ้ำซากและจำเจ งานอดิเรกเป็นวิธีที่ดีในการหลีกหนีจากความเครียดและสร้างความหมายในชีวิต
- ทางออก: ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือเข้าร่วมคอมมูนิตี้กับผู้คนที่มีความชอบคล้ายๆ กัน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความสุขโดยรวมได้
บทสรุป – การค้นพบสาเหตุเบื้องหลังความไม่มีความสุข อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนชีวิตถูกถาโถม แต่การค่อยๆ ลงมือเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างมีจุดประสงค์จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ด้วยกระบวนการ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) คุณสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้และสร้างชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขและความหมาย
เพราะ “การเดินทางเริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้ในตนเอง”
Sources:
https://jamesclear.com/book-summaries/the-subtle-art-of-not-giving-a-fck
https://justintaylorblog.medium.com/the-real-reason-youre-unhappy-f651a69aaa8