
บางครั้งเรารู้สึกอยาก “เหนือกว่า” คนอื่นโดยไม่รู้ตัว เช่น อยากเด่นที่สุดในกลุ่ม อยากให้คนชื่นชมเยอะๆ อยากได้รับการยอมรับมากกว่าคนข้างๆ… ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงบทบาทของ “อัตตา” ในตัวเรา
ในหนังสือ Master Your Emotions ผู้เขียน Thibaut Meurisse กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า“อัตตา (Ego) ไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือเลว แต่มันคือผลลัพธ์ของการขาด Self-awareness” และมันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากความคิด มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แต่เป็นสิ่งที่เราผูกโยง “ตัวตนของเรา” กับ “สิ่งนอกตัว” เช่น ชื่อเสียง ตำแหน่ง หรือสถานะ เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
ผมเชื่อว่าแฟนขาประจำของเพจ SELminder พอเห็นคำว่า Self-awareness (การตระหนักรู้ในตนเอง) ก็คงรู้ได้ทันทีว่านี่คือ เบอร์หนึ่งในห้าความสามารถหลักตามกรอบแนวคิดของ SEL (Social and Emotional Learning) เพราะมันเกี่ยวข้องกับความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ ความคิด ความต้องการ และค่านิยมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของตนเอง
ลักษณะเฉพาะของ Ego:
→
- มองว่าการมี = การเป็น
อัตตาทำให้เรารู้สึกว่า “ฉันมีมาก = ฉันมีคุณค่ามาก” - อยู่ได้ด้วยการเปรียบเทียบ
เราจะรู้ว่าตัวเอง “เก่ง” หรือ “ดี” ก็ต่อเมื่อมีใครบางคน “ด้อย” กว่า - ไม่เคยพอ
เพราะความรู้สึกเหนือกว่าคนอื่นต้องอาศัยการเติมเต็มตลอดเวลา - ต้องการการยอมรับจากภายนอก
เพื่อพิสูจน์คุณค่าภายในที่ยังไม่มั่นคง
และหนึ่งในกลไกที่อัตตาใช้บ่อยคือ… “การรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น”
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ อัตตากับ Self-awareness อยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะเมื่อเราตระหนักรู้จริงๆ ว่า “ตัวเรา” คือใคร และอะไรคือคุณค่าที่แท้จริงจากภายใน เราจะไม่รู้สึกว่าต้องเหนือกว่าใครเพื่อรู้สึกมีคุณค่า
8 กับดักของอัตตา (Ego)
ผู้เขียน คุณ Thibaut Meurisse อธิบายว่า อัตตาของเราต้องการความโดดเด่นและรู้สึกเหนือกว่าผู้อื่นเสมอ จึงสร้างกำแพงหลอกๆ ขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกตนเองออกจากอัตตาอื่น โดย 8 กับดักของอัตตา (Ego) อีโก้ ที่มันชอบใช้ มีดังนี้
1. การเพิ่มคุณค่าตนเองผ่านบุคคลอื่น
เมื่อคุณมีเพื่อนที่ฉลาด มีชื่อเสียง หรือประสบความสำเร็จ อัตตาของคุณจะพยายามหาจุดเชื่อมโยงกับพวกเขาเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนจึงชอบอวดถึงเพื่อนที่ฉลาด ร่ำรวย หรือมีชื่อเสียงของตน
2. การดูถูกและพูดลับหลัง
มนุษย์มักชอบนินทา เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นทำให้รู้สึกแตกต่างและเหนือกว่าในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง นี่คือเหตุผลที่บางคนชอบดูถูกผู้อื่นและพูดให้ร้ายลับหลัง
3. การแสดงปมด้อย
เมื่อเราแสดงปมด้อย เราอาจดูเหมือนกำลังถ่อมตน แต่บ่อยครั้งนี่เป็นกลยุทธ์แยบยลของอัตตาเพื่อสร้างความรู้สึกเหนือกว่าในอีกรูปแบบหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่พูดว่า “ฉันไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลยสำหรับการสอบนี้” ทั้งๆ ที่เธออ่านหนังสือมาหลายวัน เมื่อได้คะแนนดี เพื่อนๆ จะประทับใจมากขึ้นและมองว่าเธอมีความสามารถพิเศษ (“ไม่ต้องอ่านก็ทำได้ดี”) คนที่ถ่อมตนเช่นนี้จึงได้ความชื่นชมมากกว่าคนที่บอกตรงๆ ว่าตั้งใจเรียน
การแสดงปมด้อยเป็นการเรียกร้องความสนใจและคำชมเชยในทางอ้อม บางครั้งยังเป็นการป้องกันตัวเองล่วงหน้า—ถ้าล้มเหลว เราก็มีข้ออ้างไว้แล้ว (“ก็บอกแล้วว่าฉันไม่เก่ง”) ซึ่งเป็นวิธีที่อัตตาปกป้องตัวเองจากความรู้สึกไม่ดีพอ
4. การแสดงปมเด่น
การแสดงปมเด่นเป็นวิธีที่อัตตาใช้ปกป้องตัวเองจากความรู้สึกไม่มั่นคงหรือไม่ดีพอ โดยการโอ้อวดความสามารถหรือคุณสมบัติพิเศษต่างๆ
ตัวอย่างเช่นเพื่อนที่เพิ่งซื้อรถยนต์ราคาแพงและพูดถึงมันในทุกการสนทนา ทั้งๆ ที่ไม่มีใครถาม อาจสะท้อนถึงความกังวลลึกๆ เกี่ยวกับคุณค่าของตัวเอง เขาใช้วัตถุภายนอกสร้างความรู้สึกมีคุณค่าและพยายามยืนยันสถานะของตนเองผ่านสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ
**สิ่งที่น่าสนใจคือทั้งการแสดงปมด้อยและปมเด่นล้วนเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน:
- การแสดงปมด้อยมักซ่อนความต้องการการยอมรับและชื่นชมในรูปแบบที่แยบยล
- การแสดงปมเด่นเป็นความพยายามที่ชัดเจนกว่าในการได้รับการยอมรับและความชื่นชม
ทั้งสองกรณี อัตตากำลังแสวงหาทางออกจากความกลัวลึกๆ ว่าตนเองอาจไม่มีคุณค่าหรือไม่ดีพอ จึงสร้างกลไกเหล่านี้เพื่อปกป้องและสร้างความรู้สึกเหนือกว่าผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยการถ่อมตนจนได้รับการยกย่องหรือการโอ้อวดจนได้รับการยอมรับ
5. การแสวงหาชื่อเสียง
ชื่อเสียงคือภาพลวงตาของความเหนือกว่า นี่เป็นเหตุผลที่ผู้คนใฝ่ฝันอยากมีชื่อเสียง การได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้างตอบสนองความต้องการของอัตตาที่จะรู้สึกพิเศษกว่าคนทั่วไป
6. การเป็นฝ่ายถูก
อัตตารักการเป็นฝ่ายถูกเสมอ นี่เป็นวิธีที่อัตตาชอบใช้ในการยืนยันการมีตัวตน และคนส่วนใหญ่ชอบเชื่อว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก แต่เป็นไปได้หรือที่โลกนี้จะมีแต่คนที่คิดถูกเท่านั้น?
7. การบ่น
หากพิจารณาตามความหมายของการบ่น ทุกครั้งที่เราบ่น แท้จริงแล้วเรากำลังเชื่อว่า “ตัวฉันถูกและคนอื่นหรือสิ่งอื่นผิด” การบ่นจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่อัตตาใช้ตอกย้ำความเหนือกว่า
8. การเรียกร้องความสนใจ
อัตตาปรารถนาที่จะโดดเด่น ได้รับการยอมรับ คำชมเชย หรือความชื่นชม จึงแสดงออกผ่านพฤติกรรมต่างๆ เช่น การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่แปลกตาโดดเด่น หรือการสักลวดลายทั่วร่างกาย เพื่อดึงดูดสายตาและการยอมรับจากผู้อื่น
การตระหนักรู้ (awareness) คือก้าวแรกของการลดบทบาทอัตตา เมื่อเราเริ่มสังเกตเห็นรูปแบบของอัตตาในชีวิตประจำวัน เราจะสามารถเผชิญกับความกลัวและความไม่มั่นคงในใจได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น
ฝึกใช้ Self-awareness เพื่อลดบทบาทของอัตตา
1. สังเกตอารมณ์โดยไม่ตัดสิน
เมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจ เช่น หงุดหงิด โกรธ อิจฉา หรือรู้สึกอยากโดดเด่นกว่าใครบางคน… ให้หยุดสักนิด แล้วถามตัวเองว่า “ตอนนี้ฉันกำลังรู้สึกอะไร?” แล้วระบุอารมณ์ความรู้สึกนั้นออกมา
ตัวอย่างคำอารมณ์ความรู้สึก:
- โกรธ / น้อยใจ / หวาดกลัว / อิจฉา / ว่างเปล่า / ตื่นเต้น / สงสัย
- อยากให้เขาเห็นคุณค่าเรา / รู้สึกถูกเมิน / อยากเป็นที่ยอมรับ
แค่ ตั้งชื่อ อารมณ์ ก็ช่วยให้เราถอยออกจากมันได้ครึ่งก้าวแล้ว (เพราะเรา รู้ว่าเรากำลังรู้สึกอะไร ไม่ใช่ปล่อยให้อารมณ์พาเราไป)
2. แยกอารมณ์ออกจากตัวตน
หลังจากที่เราระบุอารมณ์ได้แล้ว ลองพูดกับตัวเองว่า: “นี่คือความรู้สึกที่ฉันกำลังมี ไม่ใช่สิ่งที่ฉันเป็น”
เช่น:
- ฉัน รู้สึกอิจฉา (แต่ฉันไม่ใช่คนแย่)
- ฉัน รู้สึกอยากได้รับการยอมรับ (แต่มันไม่ได้แปลว่าฉันไม่มีคุณค่า)
การฝึกแบบนี้จะทำให้เรา ไม่ติดตัวตนกับอารมณ์ และไม่ปล่อยให้อัตตาควบคุมพฤติกรรมเรา
3. สังเกตเสียงในหัว
เริ่มต้นด้วยการสังเกตว่าตัวเองกำลังเปรียบเทียบอยู่หรือไม่ เช่น คิดว่า “ฉันดีกว่าเขา” หรือ “ทำไมเขาได้สิ่งนั้นแต่ฉันไม่ได้?” แค่การรู้ทันเสียงนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ Self-awareness
4. ตั้งคำถามกับแรงจูงใจ
ทำสิ่งนี้เพื่ออะไร? อยากได้คำชม อยากรู้สึกว่าตัวเองดีกว่า? ถ้าใช่ นั่นคืออัตตากำลังทำงาน ลองหันกลับมาถามตัวเองว่า อะไรคือคุณค่าที่แท้จริงที่เราอยากสร้าง?
5. หันกลับมารับรู้ตัวตนจากภายใน
แทนที่จะมองหาการยืนยันจากภายนอก (ยอดไลก์ คำชม ตำแหน่ง) ลองถามตัวเองว่า “ฉันภูมิใจในสิ่งที่ฉันเป็นหรือยัง?” โดยไม่ต้องเทียบกับใคร
6. ฝึกความเมตตาต่อตัวเอง (Self-compassion)
บ่อยครั้งที่อัตตาเกิดจากการรู้สึกว่า “เรายังไม่ดีพอ” การฝึกพูดกับตัวเองอย่างอ่อนโยน เช่น “ไม่เป็นไรที่เรารู้สึกแบบนี้ มนุษย์ทุกคนก็เคยรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน”
ช่วยคลายความรู้สึกที่อยากเหนือกว่า หรืออยากพิสูจน์ตัวเอง เพราะเรากำลัง ยอมรับตัวเอง โดยไม่ต้องเปรียบเทียบ
บทสรุป อัตตาไม่ใช่ศัตรู…แต่มันคือเงา ที่จะอยู่จนกว่าเราจะเปิดไฟแห่งการตระหนักรู้ตนเอง เมื่อเราเข้าใจ 8 กับดักของอัตตา (Ego) และวิธีใช้ Self-awareness เพื่อรู้เท่าทันใจตัวเอง ก็จะช่วยให้เราเข้าใจว่าเมื่อเราฝึก Self-awareness อย่างสม่ำเสมอ เช่น การระบุอารมณ์ (ถ้าเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์ มันจะควบคุมเรา) การฝึกเรียกชื่ออารมณ์ความรู้สึก = การหยุดวงจรอัตตาได้ตรงจุดที่สุด เป็นต้น ช่วยให้บทบาทของอัตตาเบาบางลงได้
เราจะเริ่มรู้ว่าคุณค่าที่แท้จริงของเรานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบหรือการยอมรับจากคนอื่นเลย ในความเงียบสงบของใจ เราจะได้เจอตัวเราที่แท้จริง — และนั่นคืออิสรภาพที่อัตตาให้ไม่ได้