“เฮ้ยแกอย่าคิดมาก..” “ใจเย็นดิวะ..” “ไม่เห็นมีอะไรต้องเครียดเลย…” คุณเคยใช้คำพูดเหล่านี้บ้างไหมครับ? ถ้าเคยผมก็ไม่แปลกใจหรอกครับ เพราะตัวผมเองก็ยังเผลอเคยใช้เลย 😂
แต่หากเราลองสังเกตดีๆ “คำพูดติดปากเหล่านี้” ถึงแม้เราจะพูดออกมาด้วยเจตนาดี หวังอยากให้เขาสบายใจขึ้น แต่ “การตอบสนองแบบอัตโนมัติ” เหล่านี้ มันอาจกำลังทำลายความสัมพันธ์ เพราะมันมักทำให้การสื่อสารหยุดชะงัก ละเลยความรู้สึกและเกิดระยะห่างระหว่างเรากับคนที่เราห่วงใย
ในบทความนี้ ผมอยากชวนคุยถึง 7 คำพูดติดปากที่เรามักเผลอทำ และ 7 คำพูดที่น่าลองทำไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่า ที่ไม่เพียงแต่สื่อถึงความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ แต่ยังส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย และเช่นเคยครับผมจะนำหลักการของ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) เข้ามาเชื่อมโยงด้วย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น
1) Minimizing → Recognizing
❌ แทนที่จะลดทอนความสำคัญ (Minimizing): “คุณกำลังทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่”
✅ ลองยอมรับ (Recognizing): “รู้เลยว่า.. เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับคุณ”
การลดทอนความรู้สึกของผู้อื่นก็เหมือนกับการบอกว่า “อารมณ์ของเขาไม่สำคัญ” นอกจากวิธีนี้ยังไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้พวกเขารู้สึกว่า “ไม่ได้รับการรับฟัง” และรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าอีกด้วย
ในขณะที่ “การยอมรับ” ซึ่งตรงกับทักษะด้านการตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness) ของ SEL เกี่ยวข้องกับการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นและการรับรู้มุมมองของพวกเขา การเปลี่ยนจากการลดความสำคัญไปเป็นการยอมรับ กำลังแสดงให้เห็นว่าเรารับรู้ถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย มันคือการแสดงให้เขาเห็นว่า “ฉันเห็นคุณ และสิ่งที่คุณรู้สึกมีความสำคัญ”
2) Rationalizing → Validating
❌ แทนที่จะหาเหตุผล (Rationalizing): “ยังไม่ทันจะได้ลองเลย ขี้เกียจเสียล่ะ”
✅ ลองยืนยันความรู้สึก (Validating): “ฉันรู้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ”
การหาเหตุผลให้กับความไม่สบายใจของใครสักคน เปรียบเสมือนการพยายามยัดหมุดสี่เหลี่ยมลงในรูกลมๆ ที่อย่างไรมันก็ไม่มีทางที่จะลงรูนั้นได้ ก็เปรียบเสมือนการบังคับให้เขาต้องรีบแก้ปัญหาแทนที่จะเข้าใจความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังปัญหาเหล่านั้นก่อน
การยอมรับความรู้สึกของผู้อื่น ในด้าน SEL ตรงกับทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills) ซึ่งคือการสื่อสารและความเห็นอกเห็นใจ วิธีการนี้ไม่เพียงแต่ให้ความสบายใจกับอีกฝ่าย แต่ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์โดยการสร้างความไว้วางใจอีกด้วย “ฉันเข้าใจคุณ และฉันเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณ”
3) Dismissing → Allowing
❌ แทนที่จะปัดทิ้ง (Dismissing): “ไม่เป็นไรหรอก มันก็แค่อุบัติเหตุเท่านั้นเอง”
✅ ลองอนุญาตให้.. (Allowing): “คุณเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้”
การปัดทิ้งความรู้สึกของผู้อื่นก็เหมือนกับการปิดประตูอารมณ์ของพวกเขา การกระทำเช่นนี้จะปิดกั้นโอกาสที่พวกเขาจะได้แสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง แต่การยอมให้พวกเขาแสดงออกถึงความรู้สึกนั้นแปลว่าเรากำลังบอกว่า “การรู้สึกในสิ่งที่คุณกำลังรู้สึกนั้น… เป็นเรื่องปกติ” หรือ “ไม่เป็นไรที่คุณจะรู้สึกแบบนั้น”
การยอมให้อีกฝ่ายได้แสดงอารมณ์ออกมา แปลว่าเรากำลังเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้จัดการกับความรู้สึกของตนเอง ส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยและความไว้วางใจ ส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้างและซื่อสัตย์มากขึ้น ซึ่งตรงกับทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ของ SEL เพราะเราควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเราเองได้ เราจึงตอบสนองได้อย่างรอบคอบมากขึ้น
4) Redirecting → Investigating
❌ แทนที่จะเบี่ยงเบนความสนใจ (Redirecting): “เอาน่า อย่าเศร้าสิ มาดื่มกันเถอะ!”
✅ ลองสืบค้น (Investigating): “อะไรจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้บ้าง..”
การเบี่ยงเบนอารมณ์ของใครบางคน อาจดูเหมือนเป็นความพยายามที่ดีที่จะเบี่ยงเบนความสนใจ หรือช่วยหลีกเลี่ยงความไม่สบายใจจากความรู้สึกของพวกเขาเอง แต่การกระทำดังกล่าวกำลังแสดงว่าคุณกำลังเพิกเฉยต่อสิ่งที่เขารู้สึก หรือกำลังเผชิญอยู่
ดังนั้น การสืบค้นว่าอะไรจะช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น กำลังแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจกับความต้องการทางอารมณ์ของพวกเขาและเต็มใจที่จะสนับสนุนพวกเขา วิธีการนี้ไม่เพียงแต่ยืนยันความรู้สึกของพวกเขา แต่ยังเสริมพลังให้พวกเขามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making) ซึ่งเป็นการตัดสินใจอย่างรอบคอบและมีข้อมูล ในการจัดการกับอารมณ์ของตนเองด้วย
5) Interrupting → Listening
❌ แทนที่จะขัดจังหวะ (Interrupting): “ฉันก็เคยเจอปัญหานี้ ฉันขอเล่าของฉันบ้าง…!”
✅ ลองรับฟัง (Listening): “…เธออยากเล่าอะไรเพิ่มไหม…”
การขัดจังหวะเปรียบเหมือนการปิดทีวีตอนที่ซีรีย์กำลังถึงจุดไคลแมกซ์ มันทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าหงุดหงิด ถูกขัดจังหวะในช่วงเวลาที่เขารู้สึกพีคที่สุด ดังนั้น การรับฟังเป็นศิลปะในการเปิดพื้นที่ให้กับผู้อื่นได้แสดงออกอย่างเต็มที่ เมื่อคุณเลือกที่จะรับฟังแปลว่าคุณกำลังแสดงให้เขาเห็นว่า “เรื่องราวของเธอมีความสำคัญ และฉันพร้อมที่จะอยู่ตรงนี้..เพื่อฟัง” ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันและความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ตรงกับทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills) ของ SEL เป็นรากฐานสำหรับการสนทนาที่มีความหมายยิ่งขึ้น
6) Assuming → Clarifying
❌ แทนที่จะสันนิษฐาน (Assuming) “ฉันเดาว่าแกโกรธและเกลียดมันมาก…!!!”
✅ ลองเคลียร์ความชัดเจนในสิ่งที่ได้ยิน “เล่าความรู้สึกของเธอ..ให้ฉันฟังหน่อย…”
การสันนิษฐานว่า “ตัวคุณรู้ว่าใครบางคนรู้สึกอย่างไร…” ก็เหมือนกับการกระโดดไปอ่านตอนจบของหนังสือ โดยข้ามเนื้อหากลางเล่มไป ทำให้เราพลาดรายละเอียดสำคัญบางอย่าง ที่เป็นตัวเปลี่ยนแปลงเรื่องราวก่อนจะมาถึงตอนจบ
แต่การเคลียร์ความชัดเจนในสิ่งที่ได้ยิน ด้วยการขอให้อีกฝ่ายแบ่งปันความรู้สึกของตนเองเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่าเราให้คุณค่ากับมุมมองของเขา (ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล) แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้น เกิดการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) คือการเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง และรับรู้ว่าอารมณ์นั้นส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างความไว้วางใจและความเคารพซึ่งกันและกันอีกด้วย
7) Blaming → Collaborating
❌ แทนที่จะกล่าวโทษ (Blaming): “นี่เป็นความผิดของคุณ”
✅ ลองร่วมมือกัน (Collaborating): “เราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?”
การกล่าวโทษก็เหมือนกับการโยนหินลงในบ่อน้ำที่เงียบสงบ ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นของความรู้สึกไม่สบายใจและความขัดแย้ง และอาจทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวโทษสร้างเกราะและเกิดกลไกการป้องกันตนเองด้วย (Defense Mechanisms) เช่น อ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง หรือปฏิเสธความจริง เป็นต้น
แต่ทักษะการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making) ของ SEL สามารถช่วยให้เราเปลี่ยนจากการกล่าวโทษเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ส่งเสริมความรู้สึกของการทำงานเป็นทีม และความรับผิดชอบร่วมกัน
……………
บทสรุป —“คำพูดของเรา” เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังซึ่งสามารถสร้างหรือทำลายความสัมพันธ์ที่เรามีกับผู้อื่นได้ แต่การที่เราเข้าใจและผสมผสานหลักการ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) สามารถช่วยให้เรารับรู้และเข้าใจความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง สามารถควบคุม อารมณ์และการกระทำของตนให้แสดงออกได้อย่างเหมาะสม สามารถตัดสินใจและรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการ กระทำของตนได้ รวมทั้งสามารถสื่อสารกับผู้อื่นและสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
source: https://www.helpguide.org/relationships/communication/empathy