
เสียงหัวเราะดังลั่นโต๊ะ ขณะที่เพื่อนๆ กำลังเล่าเรื่องขำๆ ต่อกันไปเรื่อยๆ แต่พอถึงตาคุณ… สมองกลับว่างเปล่า นึกได้แต่จะพูดเรื่องงาน หรือไม่ก็ต้องเงียบเพราะไม่รู้จะต่อเรื่องราวกับเขายังไง…
ผมเชื่อว่าหลายคนอาจกำลังรู้สึก (และผมเองก็รู้สึก!! 😂) ว่าการ “คุยเล่น” เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อสมองเราถูกฝึกมาให้คิดเป็นระบบ มีเหตุมีผล จนบางครั้งกลายเป็น “จริงจังเกินไป” โดยไม่รู้ตัว แล้วเราจะทำยังไงดี เมื่อทุกครั้งที่คนอื่นกำลังหยอกล้อกันสนุกสนาน แต่เรากลับนึกได้แต่จะพูดเรื่องงาน เรื่องวิชาการ หรือประเด็นหนักๆ
ที่มาของบทความนี้ เกิดจากมุมมองที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองทั้งหมด แค่เพิ่มฝึกทักษะใหม่เข้าไป (หลายคนอาจไม่รู้ว่าการ “คุยเล่น” มันฝึกได้จริงๆ นะ) ผ่านมุมมองของ SEL (Social and Emotional Learning) ที่จะช่วยให้เราตระหนักรู้ตนเอง ผ่อนคลาย เรียนรู้ที่จะสนุกไปกับบทสนทนา และไม่ต้องกังวลว่าจะ “ทำลายบรรยากาศ” ด้วยความจริงจังอีกต่อไป และ 5 วิธีคุยเล่นให้สนุก มีดังนี้
5 วิธีคุยเล่นให้สนุก สำหรับคนที่ติดคุยจริงจังเกินไป
1. อย่ากังวลว่าจะพูดอะไรดี
หลายคนรู้สึกกดดันเพราะไม่รู้จะ “คุยเล่น” ยังไงดี หรือกลัวว่าเรื่องของเราเขาอาจไม่ขำ ความกังวลเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจและลังเลที่จะพูดเรื่องของตนเอง แต่ความจริงแล้ว “การสนทนาไม่ใช่แค่เรื่องของคำพูด” ซึ่งเป็นความจริงที่สำคัญมาก เพราะหลายคนมักจะติดกับดักความคิดว่า “จะพูดคุยให้เก่ง ต้องมีมุกเด็ด” แต่จริงๆ แล้วการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นธรรมชาติสำคัญกว่า
เชื่อมโยงกับ SEL:
การจัดการความกังวลและสร้างความมั่นใจในการสนทนาเป็นส่วนหนึ่งของ การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) การฝึกสังเกตความคิดและอารมณ์ของตัวเองจะช่วยลดความตื่นเต้นและความกังวลลงได้ แล้ววางตัวได้อย่างเป็นธรรมชาติ
วิธีนำไปใช้
- ฝึกหายใจลึก ๆ เพื่อดึงความกังวลในหัวกลับมาอยู่กับลมหายใจ
- ใช้ภาษากายที่เป็นมิตร เช่น ยิ้ม สบตา หรือพยักหน้าตาม เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี
- ใช้มายเซ็ทว่าการ “คุยเล่น” เป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ไม่ใช่ “การสอบ” ที่ต้องมาหาจับถูกจับผิดกัน
2. ลองฝึกเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ที่ดีก่อน
ลองสังเกตว่าเพื่อนๆ คุยกันอย่างไร เวลามีคนเล่าเรื่องสนุก คนอื่นมักจะตอบสนองด้วยการแชร์ประสบการณ์คล้ายๆ กัน หรือ ต่อยอดมุกนั้นด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การวิเคราะห์หรือสรุปบทเรียนทันที
เชื่อมโยงกับ SEL:
การฟังเชิงรุกเป็นทักษะสำคัญในการรับรู้ทางสังคม (Social Awareness) ซึ่งช่วยให้เราสามารถเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
วิธีนำไปใช้:
- ฝึกฟังแบบไม่ต้องรีบตัดสิน ไม่ต้องหาข้อสรุป แค่ซึมซับบรรยากาศและจังหวะการคุยของกลุ่ม คุณจะเริ่มเห็นแพทเทิร์นว่าอะไรที่ทำให้บทสนทนาสนุก อะไรที่ทำให้มันจืดจาง
- ทดลองพูดในจังหวะที่เหมาะสมของตนเอง โดยใช้ภาษากายช่วยสื่อสารด้วย
3. มองหา “จุดเชื่อมโยง”
แทนที่จะคิดว่า “เรื่องนี้สมเหตุสมผลไหม?” ลองเปลี่ยนเป็น “เรื่องนี้ทำให้นึกถึงอะไรบ้าง?” เช่น เพื่อนเล่าเรื่องตกใจที่เจอแมวเดินเข้าบ้าน แทนที่จะพูดถึงสถิติแมวจร ลองแชร์ประสบการณ์ตลกๆ ของตัวเองที่เคยเจอสัตว์แปลกๆ บ้าง
เชื่อมโยงกับ SEL:
การสร้างความเชื่อมโยงช่วยให้เราสามารถอ่านสถานการณ์และเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้ดีขึ้น (Social Awareness) และการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของการสนทนา เป็นทักษะที่ช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น
วิธีนำไปใช้
- ตั้งคำถามในใจว่า “เรื่องนี้คล้ายกับอะไรที่เราเคยเจอไหม?”
- ฝึกเล่าเรื่องต่อยอดจากสิ่งที่อีกฝ่ายพูด
- ใช้ประสบการณ์ของตัวเองเชื่อมโยงเพื่อสร้างความสนุกในการสนทนา
4. “จริงจัง” แบบขำๆ ได้
ความจริงจังไม่จำเป็นต้องทำให้บทสนทนาเครียดเสมอไป ลองใช้ความจริงจังของคุณให้เป็นประโยชน์ในการสร้างอารมณ์ขัน เช่น ถ้าเพื่อนบ่นว่าง่วงนอน แทนที่จะแนะนำเรื่องการนอนที่ถูกสุขลักษณะ ลองตอบแบบเกินจริง เช่น “เดี๋ยวเราเขียนบทความวิชาการ 50 หน้าเรื่องวิธีแก้ง่วงให้นะ!”
เชื่อมโยงกับ SEL
การจัดการตนเอง (Self-Management) ช่วยให้เราสามารถควบคุมตัวเอง (นั่งทับมือตัวเองไว้ ไม่ให้เผลอพูดจริงจังจนเกินไป) แต่เสริมอารมณ์ขันเข้าไป ซึ่งช่วยให้เราสามารถผ่อนคลายและสนุกไปกับบทสนทนาได้อยู่ (โดยไม่ทิ้งตัวตน)
วิธีนำไปใช้
- ลองตอบแบบเกินจริงเพื่อสร้างสีสันให้กับบทสนทนา
- ใช้การเปรียบเทียบหรือการพูดเกินจริงในลักษณะที่ทำให้ขำขัน
- จดบันทึกหัวข้อที่เคยใช้ได้ผลดีเพื่อใช้เป็นแนวทางในอนาคต
5. หาจังหวะ “ซ้อมปาก”
การคุยเล่นเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ที่สบายใจก่อน อาจจะเป็นเพื่อนสนิท 1-2 คน ลองฝึกปล่อยให้บทสนทนาไหลไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคิดมาก เมื่อคุ้นเคยแล้วค่อยๆ ขยับขยายไปสู่กลุ่มใหญ่ขึ้น
เชื่อมโยงกับ SEL:
การฝึกฝนและทดลองเป็นส่วนหนึ่งของ การพัฒนาตนเอง (Self-Improvement) ใน SEL ซึ่งช่วยให้เราสามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะทางสังคมได้อย่างต่อเนื่อง
วิธีนำไปใช้
- ลองฝึกคุยเล่นกับเพื่อนสนิทก่อน
- ให้เวลากับตัวเองในการลองผิดลองถูก
- ไม่ต้องกดดันตัวเองว่าต้องพูดอะไรที่สมบูรณ์แบบเสมอ
สิ่งสำคัญที่สุด: และนี่คือ 5 วิธีคุยเล่นให้สนุก จำไว้ว่าการ “คุยเล่น” ไม่ใช่การทิ้งตัวตนที่แท้จริงของคุณ แต่เป็นการเพิ่มมิติใหม่ๆ ให้กับตัวเอง คุณยังเป็นคนที่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดี แค่เรียนรู้ที่จะ “ผ่อนคลาย” และ “เล่นกับความจริงจัง” ของตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามองผ่านมุมมองของ SEL (Social and Emotional Learning) ซึ่งนอกจากช่วยให้เราตระหนักรู้ตนเองมากขึ้น ยังช่วยให้เราผ่อนคลาย เรียนรู้ที่จะสนุกไปกับบทสนทนา และไม่ต้องกังวลว่าจะ “ทำลายบรรยากาศ” ด้วยความจริงจังอีกต่อไป