4 มิติตระหนักรู้ตนเอง ❘ เราอยู่จุดไหน และจะปรับเปลี่ยนอย่างไร


“คุณคิดว่าตัวเองมี Self-awareness ไหม?” (สมมุติคุณผู้อ่านตอบว่ามี) ผมอยากถามต่อว่า “คุณคิดว่าตนเองมีระดับใด? หรือมีมากน้อยแค่ไหน?” ผลการศึกษาจาก Harvard Business Review พบว่า 95% ของผู้คนคิดว่าตนเองมีความตระหนักรู้ในตนเอง แต่มีเพียง 10-15% เท่านั้นที่ตระหนักรู้ในตนเองจริงๆ (ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้)

ผลการศึกษานี้เผยให้เราเห็นความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ผู้คนประเมินระดับการตระหนักรู้ในตนเองที่สูงเกินจริง คำถามที่ผมสนใจคือ “แล้วทำไมคนถึงไม่ค่อยมี Self-awareness?” “การตระหนักรู้ในตนเองคืออะไรกันแน่?” “และถ้าเราจะจริงจังเพื่อสร้างให้เกิดขึ้น จะต้องทำอย่างไร?” บทความนี้อยากชวนคุณผู้อ่านมาร่วมค้นหาคำตอบไปด้วยกันนะครับ…


การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) คืออะไร?


การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) คือ ความสามารถในการกลับเข้ามารับรู้ภายในของตนเอง ทั้งอารมณ์ ความคิด ค่านิยม ทัศนคติ มุมมอง ความชอบ เป้าหมาย จุดแข็ง จุดอ่อน  ความท้าทาย และอื่นๆ และเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของตนเองอย่างไร

จากการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Learning หรือ SEL) โดย CASEL (Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning) ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 5 องค์ประกอบคือ

  • การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness)
  • การจัดการตนเอง (Self-management)
  • การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness)
  • ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)
  • การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making)

การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด และเป็นพื้นฐานของความสามารถอื่นๆ ที่จะตามมา กล่าวคือ เมื่อเราตระหนักรู้ในตนเอง เราจะสามารถจัดการกับความคิด อารมณ์และความรู้สึกได้ดีขึ้น เข้าใจมุมมองของผู้อื่น สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และตัดสินใจอย่างมีความคิดรอบคอบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเดินทางไปอย่างดีเมื่อคุณมีการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ที่แข็งแรง

TIPS! ทักษะที่จำเป็นช่วยพัฒนาความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ได้แก่:
– การติดป้ายอารมณ์ความรู้สึก (Labeling) ของตนเอง
– การระบุสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ (Triggers) ของตนเอง
– การวิเคราะห์อารมณ์และผลกระทบ (Affect) ของมันต่อผู้อื่น
– การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง
– การรับรู้ความต้องการ คุณค่า การตัดสิน และอคติของตนเอง
– การระบุจุดแข็งและด้านที่ต้องพัฒนาของตนเอง
– การฝึกความเห็นอกเห็นใจตนเอง
– การสร้างความมั่นใจในตนเอง การเห็นคุณค่าในตนเองในแง่บวก (Self-compassion)
– การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset)

การศึกษาจาก Harvard Business Review ได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่าการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) มีสององค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

1) ตระหนักรู้ภายในตนเอง (Internal self-awareness) คือ การรับรู้หรือเข้าใจที่เกิดจากการมองกลับเข้ามาที่ตัวเราเองเป็นหลัก ว่าเรามีความคิดอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร และมีค่านิยมภายในอะไร ตลอดจนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของตัวเราอย่างไร
2) ตระหนักรู้ภายนอกตนเอง(external self-awareness) คือ การรับรู้หรือเข้าใจว่าผู้อื่นมองตัวเราอย่างไร (ซึ่งการตระหนักรู้ตนเองจากภายนอก อาจไม่ตระหนักรู้ตนเองจากภายในด้วยเสมอไป การวิจัยแสดงให้เห็นว่าทั้งสองด้านนี้ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน)

คำถามคือ “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ด้านใดที่เรามีหรือด้านใดที่เรายังขาดและต้องการการพัฒนา? การศึกษานี้ได้ระบุ Archetypes (ลักษณะต้นแบบ) ของการตระหนักรู้ในตนเอง 4 แบบ ดังนี้


ผู้สำรวจตนเอง คือ ผู้ที่มีความตระหนักรู้ภายในตนเองสูง แต่มีความตระหนักรู้ภายนอกต่ำ การคอยสำรวจตนเองอยู่เสมอมันสามารถช่วยให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้น แต่ข้อควรระวังของคนกลุ่มนี้คือ ถ้าหากเรามีอคติต่อตนเองล่ะ? การสำรวจตนเองนั้นๆ ผลลัพธ์อาจอาจกลายเป็นกล่าวโทษหรือดุด่าตัวเอง (ซึ่งสานการณ์จริงอาจไม่ได้รุนแรงหรือ ทำผิดอะไรเลยก็เป็นได้)

ข้อดี:

  • คน Introspectors มีความเข้าใจในตัวเองอย่างชัดเจน พวกเขารู้ถึงอารมณ์ ความคิด และค่านิยมภายในของตนเอง
  • จุดเด่นของคนกลุ่มนี้คือ พวกเขาใช้เวลามากในการเขียนบันทึกหรือสะท้อนความคิดและความรู้สึกของตนเอง และพยายามตระหนักถึงพฤติกรรมและการกระทำของตน

ข้อเสีย:

  • พวกเขาอาจมีปัญหาในการยอมรับความคิดเห็นจากผู้อื่น ขาดการรับ Feedback
  • บางครั้งการพิจารณาตนเอง อาจส่งผลให้ติดอยู่ในลูปของความคิดที่หมกมุ่นอยู่กับของตัวเองอย่างไม่จบสิ้น ทำให้เกิดความกลัวหรือความวิตกกังวลในชีวิตขึ้นมาได้
  • ความกลัวส่งผลให้เราไม่กล้าทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตไปได้

วิธีการปรับปรุง:

  • มองหาข้อเสนอแนะ Feedback จากเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท หรือเจ้านายเกี่ยวกับพฤติกรรมและการกระทำของคุณ แน่นอนว่าบางครั้งมันอาจเป็นเรื่องยากที่จะรับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถูกชี้ให้เห็นจุดอ่อนของคุณ เช่น การรับฟังผู้อื่น หรือความอดทนในการรอ เป็นต้น
  • ฝึกการฟังอย่างตั้งใจและเปิดรับคำติชมที่สร้างสรรค์
  • มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมการรับรู้จากภายนอก เช่น โครงการทีมและกิจกรรมทางสังคม

ผู้แสวงหา คือ คนที่มีความตระหนักรู้ภายในตนเองต่ำ และความตระหนักรู้ภายนอกก็ต่ำด้วย ผู้แสวงหาอาจจะเป็นคนที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับชีวิต ยังขาดเป้าหมายที่ชัดเจน หรืออาจเป็นคนที่กำลังรู้สึกหลงทางไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน

ข้อดี:

  • คน Seekers มักมีความอยากรู้และเต็มใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเองและผู้อื่น
  • พวกเขามีศักยภาพในการเติบโตหากมีที่ปรึกษาหรือโค้ชช่วยนำทางในการค้นพบตัวตน

ข้อเสีย:

  • คนกลุ่มนี้มักขาดความเข้าใจที่ชัดเจนว่าตนเองเป็นใคร ต้องการอะไร และมีคุณค่าภายในอะไร
  • ความไม่แน่นอนนี้อาจนำไปสู่ความหงุดหงิดในตนเอง และอาจติดขัดในการพัฒนาผลงาน

วิธีการปรับปรุง:

  • ตั้งคำถามเพื่อสำรวจตนเองบ่อยๆ และพยายามบันทึกความคิด ความรู้สึกลงสมุดโน้ต ตัวอย่างคำถามเช่น ฉันชอบทำอะไร? ฉันถนัดอะไร? ฉันเก่งอะไร? หรือฉันทำอะไรได้ดี? (ถึงแม้สิ่งนั้นจะถนัดหรือไม่ถนัด)
  • กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาส่วนบุคคลและอาชีพให้ชัดเจน เพื่อสร้างความรู้สึกมีทิศทาง
  • ติดต่อเพื่อนสนิทอย่างน้อยสามคนและขอให้พวกเขาตอบคำถามเกี่ยวกับตัวคุณ ตัวอย่างเช่น ทักษะอันดับหนึ่งที่คุณเห็นในตัวฉันคืออะไร? สิ่งที่คุณคิดว่าฉันเก่งโดยธรรมชาติมีอะไรบ้าง? สิ่งที่คุณคิดว่าฉันทำได้ไม่ดีเลยมีอะไรบ้าง?

ไม่ว่าคำตอบที่ได้จะออกมาในทิศทางบวกหรือลบ ผมมองว่านี่เป็นก้าวแรกที่ถูกต้องสู่การมีความตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น


ผู้เอาใจคนอื่น คือ คนที่มีความตระหนักรู้ภายนอกสูง แต่มีความตระหนักรู้ภายในตนเองต่ำ หนึ่งในสิ่งที่อันตรายที่สุดของคนกลุ่มนี้คือ การที่พวกเขาพยายามทำให้ทุกคนสบายใจหรือชื่นชอบ แม้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้ชีวิตตนเองลำบากก็ตาม และยังให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อื่นมาก่อนความต้องการของตัวเองด้วย!

ข้อดี:

  • คน Pleasers มีความเข้าใจในความต้องการและความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นอย่างดี
  • ถูกมองว่าเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี เอาใจใส่ และคอยสนับสนุนซัพพอร์ตทีมอยู่เสมอ

ข้อเสีย:

  • ละเลยความต้องการและความปรารถนาของตนเอง เพราะคอยแต่จะตอบสนองความต้องการของคนอื่น
  • หลงลืมตัวตน เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาอาจตัดสินใจในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับตัวตนหรือความพึงพอใจของตนเอง
  • พยายามทำให้ทุกคนพอใจ จนบางทีถูกมองว่าเป็นนกสองหัวไปทันที
  • อาจโดนเอาเปรียบเนื่องจากคนกลุ่มนี้ยอมไปหมดทุกอย่าง คนอื่นอาจฉวยจังหวะนี้จี้จุดอ่อนและเลือกที่จะใช้มันเพื่อเอาเปรียบ

วิธีการปรับปรุง:

  • เรียนรู้การตั้งขอบเขตและให้ความสำคัญกับความต้องการของตนเอง
  • ฝึกความกล้าในการสื่อสารความรู้สคก ความต้องการ หรือการบอกเล่าเป้าหมายของตนเอง
  • สะท้อนค่านิยมส่วนตนอยู่เสมอ และคอยตรวจสอบให้แน่ใจว่าการกระทำของตัวเรานั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เรายึดถือหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่การแสวงหาการยอมรับจากภายนอกเท่านั้น

TIPS! ทักษะที่จำเป็นช่วยพัฒนาการจัดการตนเอง (Self-management) ได้แก่:
– การควบคุมและแสดงออกทางอารมณ์ของตนเอง (Regulating and expressing)
– การแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความยืดหยุ่นในการเอาชนะอุปสรรค (Perseverance and resilience)
– การเซต healthy boundaries ที่ดีต่อตนเอง
– การใช้กลยุทธ์เพื่อลดความเครียดส่วนตัวและระหว่างบุคคล
– การตั้งและติดตามเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว
– การปกป้องตนเองและความต้องการของตนเอง
– การรักษาสมาธิ
– การใช้ Feedback constructively อย่างสร้างสรรค์


ผู้ตระหนักรู้ คือ คนที่มีความตระหนักรู้ภายในตนเองสูง และมีความตระหนักรู้ภายนอกสูงด้วยเช่นกัน ดังนั้น กลุ่มคน Aware จะมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของตนเอง ตลอดจนคอยสังเกตพฤติกรรมตนเองที่แสดงออกว่าส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร

ข้อดี:

  • กล่มคน Aware มีความเข้าใจที่สมดุลระหว่างตัวตนภายในและตัวตนภายนอกที่แสดงออก รวมถึงผลที่เกิดกับผู้อื่น
  • พวกเขารู้ว่าตนเองคือใคร ต้องการอะไร ทั้งยังเข้าใจตนเองในด้านจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา และคุณค่าที่ตนเองยึดถือ
  • การตระหนักรู้ตนเองเป็นฐานรากไปสู่การบริหารจัดการตนเองได้ (Self-management)

ข้อเสีย:

  • แม้ว่า The Aware จะมีข้อเสียที่น้อยกว่า แต่การรักษาสมดุลไว้เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งความพยายามในการรับรู้ความคิด ความรู้สึกทางบวกทางลบที่คอยจะ Pop-up ขึ้นมา และการดึงสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
  • ต้องคอยระมัดระวังเพื่อไม่ให้กลับไปสู่นิสัยแบบเดิมๆ

วิธีการปรับปรุง:

  • ฝึกการสะท้อนตนเองอย่างต่อเนื่องและมองหา Feedback เป็นประจำ
  • รักษาความคิดแบบ Growth Mindset ไว้ และเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ และโอกาสในการเรียนรู้
  • ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สนับสนุนการเติบโตร่วมกันและความเข้าใจ

บทสรุป —การคอยทำความเข้าใจว่าเราอยู่ในเลเวลไหนของการตระหนักรู้ในตนเอง สามารถช่วยให้เราระบุจุดแข็งและจุดที่ต้องปรับปรุงได้ เมื่อเราพยายามทำงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการตระหนักรู้ในตนเองทั้งภายในและภายนอก คุณสามารถประสบความสำเร็จส่วนบุคคลและอาชีพมากยิ่งขึ้น จำไว้ว่าการตระหนักรู้ในตนเองเป็นการเดินทางที่ต่อเนื่องที่ต้องการการสะท้อนตนเอง ข้อเสนอแนะ และการเติบโตอยู่เสมอ

References:
https://hbr.org/2018/01/what-self-awareness-really-is-and-how-to-cultivate-it
https://www.mindsetwithmuscle.com/blog/kb10-the-4-levels-of-self-awareness
https://ihf-fih.org/news-insights/the-importance-of-self-awareness-in-becoming-better-leaders/

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) สิ่งที่คิด VS. สิ่งที่เป็น

Self-Awareness หรือ การตระหนักรู้ในตนเอง เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยในหนังสือแนวพัฒนาตนเอง แต่น่าแปลกที่หลายคนยังไม่เข้าใจคำนี้

9 นิสัยขโมยความสุข (ที่เรากำลังขโมยออกจากตัวเอง)

“การเข้าใจภาษาของอารมณ์” คือกุญแจสู่การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness) รวมถึงการเข้าใจคุณค่าภายใน และการปรับปรุงชีวิตให้สมดุลมากขึ้น

10 Simple Ways to Become 10x Better Everyday!
เปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น 10X ด้วย 10 นิสัยสำเร็จที่ใครก็ทำได้

การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ล้วนเริ่มต้นจากการทำสิ่งเล็กๆ ซ้ำไปซ้ำมาทุกวัน และนี่คือ 10 วิธีที่จะช่วยให้คุณเริ่มต้นได้อย่างง่ายๆ และครั้งนี้ คุณจะทำได้จริง