การตั้งเป้าหมายไม่ใช่แค่การพูดว่า “ฉันจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ” แล้วหวังให้มันสำเร็จ! แต่มันเกี่ยวกับการสร้างเส้นทางที่ชัดเจนเพื่อจะไปถึงเป้าหมายนั้นๆ ซึ่งกรอบแนวคิดในการตั้งเป้าหมายที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกทั้ง 3 ตัว ได้แก่ SMART, FAST และ CLEAR สามารถใช้เป็นจุดตั้งต้นที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจของคุณได้
ซึ่งการตั้งเป้าหมายและกำกับตนเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เป็นคีย์หลักที่สำคัญของทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ในกระบวนการ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) อีกด้วย ดังนั้น ลองสำรวจกรอบแนวคิดทั้ง 3 รูปแบบไปพร้อมๆ กันครับ
3 เฟรมเวิร์กช่วยตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น
The SMART Framework
: การตั้งเป้าหมาย SMART เปลี่ยนความฝันให้จับต้องได้
เวลาที่คุณเริ่มต้นสร้างบ้าน คุณเริ่มจากการก่ออิฐซ้อนกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีแผนหรือเปล่า..? เป้าหมายก็เช่นกันกันหากเริ่มโดยไม่มีแผน ก็คงไม่ต่างอะไรจากการสร้างบ้านโดยไม่มีโครง! กรอบแนวคิด SMART เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของคุณ ทำให้มั่นใจว่าเป้าหมายแต่ละข้อที่คุณตั้งไว้นั้นมั่นคง บรรลุผลได้จริง และสอดคล้องกับความปรารถนาที่คุณต้องการ
- S – Specific (เฉพาะเจาะจง): ขั้นตอนแรกในกรอบแนวคิด SMART คือ การรู้ชัดว่าคุณต้องการอะไร? (ลองนึกภาพตัวคุณยิงธนูโดยถูกผ้าปิดตาอยู่ —ก็คงอยากที่จะโดนเป้า) คำว่า “เฉพาะเจาะจง” เปรียบเหมือนการเปิดตากว้าง รู้ว่าเป้าหมายนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “ฉันอยากมีสุขภาพดี” เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงคือ “ฉันต้องการลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัมในเวลา 3 เดือน โดยการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ครั้ง เป็นต้น”
- M – Measurable (วัดผลได้): เมื่อเรากำหนดเป้าหมายแล้ว ก็ต้องมีวิธีติดตามความก้าวหน้า เปรียบเหมือนกับการมีไม้บรรทัดเพื่อวัดความสำเร็จของคุณ ดังนั้น ควรวัดผลเป็นตัวเลขได้ เปรียบเทียบได้ และติดตามผลในแต่ละช่วงเวลาได้ เป็นต้น ในแง่ของ SEL สิ่งนี้เชื่อมโยงกับการจัดการตนเอง (Self-management) คุณสามารถติดตามและควบคุมอารมณ์และกำกับพฤติกรรมของตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การติดตามผลน้ำหนักที่ลดลงในแต่ละสัปดาห์ หรือการจดบันทึกว่าคุณออกกำลังกายไปกี่ครั้งแล้ว เป็นต้น สิ่งนี้จะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจและปรับกลยุทธ์ได้ทัน
- A – Achievable (บรรลุผลได้): การตั้งเป้าหมายที่เกินเอื้อมก็เหมือนกับการพยายามกระโดดข้ามภูเขา มันทำให้เราท้อใจและขาดแรงจูงใจได้ง่าย แต่มีลำดับขั้นตอนแต่ละขั้นว่าควรทำอย่างไร มีแผนกิจกรรมย่อย และมีแผนที่จะแก้ไขปรับปรุง จะช่วยกระตุ้นให้ตัวเราพยายามมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ตัวอย่าง หากคุณไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน การตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งมาราธอนเลยในครั้งแรก (ประมาณ 42.195 กิโลเมตร) อาจจะดูทะเยอทะยานเกินไป และดูจะบรรลุผลไม่ได้จริง แทนที่จะเป็นเช่นนั้นให้เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายวิ่ง 5 กิโลเมตรก่อน และค่อยๆ เพิ่มขึ้น (โดยตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลและคำนึงถึงสุขภาพตัวเองด้วย)
- R – Relevant (สอดคล้องกับเป้าหมายหลัก): เป้าหมายควรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในชีวิตหรือสิ่งที่คุณให้คุณค่า เหมือนกับการทำให้แน่ใจว่าอิฐที่คุณก่อจะเป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่คุณต้องการอยู่อาศัย ให้ถามตัวเองว่า “เป้าหมายนี้สำคัญกับฉันหรือไม่? มันสอดคล้องกับค่านิยมและวัตถุประสงค์ระยะยาวของฉันหรือไม่?”
- T – Timely (มีกำหนดเวลา): สุดท้าย ทุกเป้าหมายต้องมีกำหนดเวลา หากไม่มีกรอบเวลา เป้าหมายของคุณก็เหมือนเรือที่ล่องไปโดยไม่มีจุดหมาย -อาจจะถึงฝั่งหรือไม่มีวันได้เห็นฝั่งอีกเลย (ก็อาจเป็นได้) เป้าหมายที่มีกำหนดเวลาจะมีวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดที่ชัดเจน มีการแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว จะกระตุ้นให้คุณลงมือทำได้ง่ายขึ้น
The FAST Framework
: การตั้งเป้าหมาย FAST ช่วยมุ่งไปข้างหน้าอย่างมีความทะเยอทะยาน
ในขณะที่ The SMART Framework เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีกรอบเวลาชัดเจน แต่ The FAST Framework จาก MIT Sloan มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนไปข้างหน้าที่ตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ ดังนี้
- F – Frequently Discussed (พูดคุยบ่อยๆ): ลองจินตนาการว่าคุณตั้งเป้าหมายแล้วเก็บมันไว้ในลิ้นชัก ไม่เคยเห็นมันอีกเลย ถามว่ามันจะมีประสิทธิภาพอย่างไร? กรอบแนวคิด FAST เน้นย้ำความสำคัญของการรักษาเป้าหมายของคุณให้เด่นชัดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ การอภิปรายกับทีมงาน หรือจดบันทึกสะท้อนความคิดประจำวัน คีย์สำคัญคือ “ความสม่ำเสมอ”
- A – Ambitious (ทะเยอทะยาน): เป้าหมายที่ทะเยอทะยานจะผลักดันคุณให้ออกจาก Comfort Zone หรือ พื้นที่แห่งความสบาย ถึงแม้ว่าความทะเยอทะยานนั้นมันอาจจะไม่ถึงฝันในทันที แต่เชื่อเถอะครับว่ามันจะพาคุณออกห่างจากจุดที่คุณเคยยืนอยู่แน่นอน! แต่ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมานะครับ ว่าการก้าวออกจาก Comfort Zone สิ่งแรกที่คุณต้องเผชิญคือ “ความกลัว และความไม่ใจ” จุดนี้เองที่การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) และการจัดการตนเอง (Self-management) ของ SEL เข้ามามีบทบาท คุณจะพบเจอกับอารมณ์ความรู้สึกมากมาย และความท้าทายในการจัดการอารมณ์เหล่านั่น
- S – Specific (เฉพาะเจาะจง): เช่นเดียวกับกรอบแนวคิด SMART กรอบแนวคิด FAST ก็ให้คุณค่ากับความเฉพาะเจาะจงเช่นกัน การมีความเฉพาะเจาะจงทำให้มั่นใจว่าคุณรู้แน่ชัดว่าคุณกำลังทำเพื่อสิ่งใด… มันคือความแตกต่างระหว่างการพูดว่า “ฉันอยากใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น…” กับ “ฉันอยากใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น วัดจากการสอบ TOEIC ได้เกิน 800 คะแนน ภายในหกเดือนข้างหน้า”
- T – Transparent (โปร่งใสเปิดเผย): คือการเปิดเผยเป้าหมายของคุณกับผู้อื่น เมื่อคุณแบ่งปันเป้าหมายของคุณกับผู้อื่น —มันเหมือนกับการมีเทรนเนอร์ที่คอยกระตุ้นให้คุณออกมาฟิตเนสอยู่เสมอ ดังนั้น การเปิดเผยทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเส้นทางและบรรลุเป้าหมายของคุณมากขึ้น
The CLEAR Framework
: การตั้งเป้าหมาย CLEAR ที่ยืดหยุ่นและพร้อมปรับเปลี่ยน
ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกนาที การมีเป้าหมายที่มีความยืดหยุ่นดูจะตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกรอบแนวคิด CLEAR รู้ดีว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป มักอาจคดเคี้ยว มีการปรับเปลี่ยนระหว่างทาง หรือเจอเรื่องเซอร์ไพร์สแบบไม่รู้ตัว ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
- C – Collaborative (ร่วมมือกัน): “เป้าหมายที่สำเร็จย่อมปรากฏคนซัพพอร์ตในเส้นทางอยู่เสมอ” เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่นทำให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง ความคิด และการสนับสนุนจากเขาเหล่านั้นได้ —เปรียบเหมือนกับการสร้างสะพาน แต่ละคนต่างนำเครื่องมือหรือทักษะเฉพาะตนมาร่วมกันสร้างบางสิ่งที่แข็งแกร่งและคงทนมากขึ้น
- L – Limited (จำกัด): แม้ว่าการมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การตระหนักถึงข้อจำกัดของตัวคุณเองก็สำคัญไม่ต่างกัน —มันเหมือนกับการเตรียมกระเป๋าเดินทาง หากคุณไม่อยากให้กระเป๋าต้องบรรทุกของหนักมากเกินไป ก็จำเป็นที่คุณต้องกำหนดขอบเขต จัดลำดับความสำคัญ และต้องมั่นใจว่าคุณไม่ได้ทุ่มเทตัวเองมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อตนเอง
- E – Emotional (อารมณ์ร่วม): เป้าหมายของคุณควรสอดคล้องกับระดับอารมณ์ ระดับความอยาก และระดับความกระหายในความสำเร็จของตัวคุณ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นเหมือนเชื้อไฟแรงจูงใจให้คุณอยากเอาชนะอุปสรรคเพิ่มมากขึ้น มันคือความแตกต่างระหว่างการทำงานเพื่อเงินเดือน กับการทำงานเพื่อสิ่งที่คุณเชื่อลึกๆ ภายใน
- A – Appreciable (เห็นคุณค่า): “เป้าหมายที่ดีควรมี Small Win” แทนที่จะรอรู้สึกดีใจเมื่อเป้าหมายใหญ่สำเร็จ คุณสามารถดีใจและมีความสุขในแต่ละก้าวได้ —มันเหมือนกับการปีนเขา คุณไม่ได้มองไปที่ยอดเขาตลอดเวลา แต่ต้องโฟกัสอยู่ที่สองเท้าที่ก้าวไปต่างหาก (เพราะถ้าสะดุดล้มลงไป ก็คงบาดเจ็บ และคงอยากที่จะถึงเป้าหมายแน่นอน) ดังนั้น ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) จะช่วยให้คุณรักษาสมาธิ ลดความเครียด และเฉลิมฉลองชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทางได้ง่าย
- R – Refinable (ปรับแต่งได้): สุดท้าย กรอบแนวคิด CLEAR ตระหนักว่าเป้าหมายไม่ได้ตายตัว ขณะที่คุณก้าวหน้าไปข้างหน้า คุณอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายของคุณตามข้อมูลใหม่หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
……………………………
บทสรุป: การตั้งเป้าหมายเป็นวิธีที่ทรงพลังในการกำหนดทิศทางและจุดมุ่งหมายแก่ชีวิตของคุณ ไม่ว่าคุณจะชอบกรอบแนวคิดของ SMART แรงขับเคลื่อนของ FAST หรือความสามารถในการปรับตัวของ CLEAR แต่ละกรอบแนวคิด ก็ให้เครื่องมือที่ต่างกันไปแต่ทั้งสามก็มุ่งช่วยให้คุณบรรลุความฝันของคุณ รวมถึงการบูรณาการการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) โดยเฉพาะทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) เข้ากับกระบวนการตั้งเป้าหมายของคุณ ไม่เพียงแต่ทำให้คุณพร้อมสำหรับความสำเร็จ แต่จัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ และกำกับตนเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
กุญแจสำคัญคือการเลือกแนวทางที่สอดคล้องกับตัวคุณเองมากที่สุด และเริ่มลงมือทำในวันนี้ จำไว้ว่า การเดินทางพันไมล์เริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ ดังนั้น อย่าแค่ฝัน วางแผน ลงมือทำ และบรรลุผล! ตัวคุณในอนาคตจะขอบคุณคุณในวันนี้อย่างแน่นอน
ว่าแต่… ก้าวแรกของคุณคืออะไรครับ?
Source: https://agencyanalytics.com/blog/goal-setting-frameworks