
“คนที่เราทำร้ายความรู้สึกเขาได้ง่ายที่สุด…? คือคนที่เรารักและใกล้ชิดที่สุด” คุณผู้ฟังเห็นด้วยไหมครับ!? หากเราลองสังเกตความสัมพันธ์ของเราอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนสนิท เมื่อจำนวนปีของความสนิทเพิ่มมากขึ้น ความเกรงใจและความละเอียดอ่อนที่ปฏิบัติต่อกันกลับค่อยๆ ลดลน้อยลงอย่างไม่รู้ตัว
ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจกำลังคิดสวนในใจว่า “ฉันไม่ได้เป็นแบบนั้นนะ” ปรากฏการณ์นี้มีคำอธิบายที่น่าสนใจอยู่ครับ คุณ Dale Carnegie ผู้เขียนหนังสือสุดฮิตตลอดกาลอย่าง “How to Win Friends and Influence People” กล่าวว่า “ตามปกติของมนุษย์เรา ถ้าหากไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องคิด เราจะใช้เวลา 95 เปอร์เซ็นต์คิดถึงแต่ตนเอง” ซึ่งเป็นคำเตือนที่กระตุกใจว่า ‘เมื่อเราคิดถึงตัวเองมาก ก็ง่ายที่เราจะเผลอพูดหรือกระทำอะไรที่ไม่รักษาน้ำใจผู้อื่นไปโดยไม่รู้ตัว'”
ในบทความนี้ #เพจSELminder ผมจะพาคุณสำรวจว่า “ทำไมคนยิ่งใกล้ตัว ยิ่งต้องรักษาน้ำใจ?” และ 16 วิธีรักษาน้ำใจ ที่เราสามารถนำทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship Skills) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าความสามารถหลักตามกรอบแนวคิด SEL (Social and Emotional Learning) มาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทักษะนี้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของการรักษาน้ำใจคนที่เรารักและใกล้ชิดได้ดียิ่งขึ้น
ทำไมยิ่งสนิท ยิ่งต้องรักษาน้ำใจ?
ความใกล้ชิดไม่ได้เป็นเพียงการอยู่ใกล้กัน แต่คือศิลปะแห่งการเข้าใจและเอาใจใส่ นี่คือ 4 เหตุผลที่คนยิ่งใกล้ตัว ยิ่งต้องรักษาน้ำใจกัน:
1.เพราะความสนิทไม่ได้หมายความว่าทำอะไรได้โดยไม่ต้องคิด
ความสนิทสนมไม่ใช่ใบอนุญาตให้ละเลยความรู้สึกของกันและกัน แม้เรารู้สึกว่าอีกฝ่ายอาจจะ “ไม่ถือสา” แต่การทำร้ายจิตใจซ้ำๆ (โดยที่เราอาจไม่ตั้งใจ/หรือไม่ทันระวัง) กลับเกิดรอยแผลที่มองไม่เห็น เพราะทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัวและความรู้สึกเป็นของตัวเอง การเคารพและให้เกียรตินี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับความสนิทสนม แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นมนุษย์ที่มีต่อกัน
2.เพราะยิ่งสนิทยิ่งทำให้ความคาดหวังสูงขึ้น
เห็นด้วยกับผมไหมครับว่า.. เมื่อเราสนิทกับใครมากขึ้น เรายิ่งคาดหวังให้อีกฝ่ายเข้าใจและใส่ใจเราโดยไม่ต้องพูดอะไรมากยิ่งเพิ่มมากขึ้น! ไอ้เจ้าความคาดหวังตัวนี้ละครับที่มันกลายเป็นดาบสองคม เพราะหากไม่ดูแลน้ำใจกันอาจเกิดความผิดหวังที่สะสมจนส่งผลต่อความสัมพันธ์
3. เพราะยิ่งสนิทยิ่งส่งผลกระทบระยะยาว
ครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคู่ชีวิต ไม่เพียงแค่ผ่านเข้ามาในชีวิตแบบชั่วคราว แต่พวกเขาเป็นผู้ร่วมเดินทางในชีวิตที่ยาวนานของเรา การทำร้ายความรู้สึกเพียงครั้งเดียวอาจทิ้งรอยแผลที่ยากจะรักษา ดังนั้น ความสัมพันธ์เหล่านี้จึงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
4. เพราะความสนิทคือความทรงจำของกันและกัน
การรักษาน้ำใจเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้แห่งความสุข – ยิ่งรดน้ำ ใส่ใจ และบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ต้นไม้ก็ยิ่งเติบโตแข็งแรง ดังนั้น เมื่อเราใส่ใจความรู้สึก ทำให้คนใกล้ตัวรู้สึกมีคุณค่า เราไม่เพียงแค่รักษาความสัมพันธ์ แต่กำลังสร้างคลังแห่งความทรงจำดี ๆ ที่จะค้ำจุนกันและกันในอนาคต
16 วิธีรักษาน้ำใจ ที่ทำได้จริง
1. พูดขอบคุณให้ติดปาก
บอกขอบคุณแม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแสดงว่าคุณเห็นคุณค่าของเขา
2. พูดขอโทษเมื่อทำผิด
หากเผลอทำร้ายจิตใจ ให้ขอโทษอย่างจริงใจ อย่าเพิกเฉยหรือหลีกเลี่ยง
3. กระทำจริงใจ
เลือกใช้คำพูดและน้ำเสียงที่สื่อถึงความใส่ใจ แม้ในเรื่องที่ต้องพูดตรง
4. ฟังให้จบประโยคไม่รีบขัด
ให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนใกล้ตัวพูด ฟังโดยไม่ขัดจังหวะหรือรีบตัดสิน ทักษะการฟังส่งผลต่อความสัมพันธ์มาก (Relationship)
5. เลี่ยงคำพูดที่ประชดประชัน
หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดเชิงลบหรือประชดประชันที่อาจกระทบจิตใจ
6. ให้กำลังใจในยามที่เขารู้สึกแย่
พูดหรือแสดงออกให้เขารู้ว่าคุณอยู่เคียงข้าง ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรก็ตาม
7. ช่วยเหลือในสิ่งที่ทำได้
หากเขาขอความช่วยเหลือ และคุณทำได้ ให้ช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน
8. อย่าตัดสินเขาจากมุมมองของคุณเพียงฝ่ายเดียว
พยายามเข้าใจเขาจากมุมมองของเขา ไม่ด่วนตัดสินว่าเขาผิดหรือถูก
9. รักษาความลับของเขา
อย่าพูดถึงเรื่องส่วนตัวของเขากับคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องที่เขาไว้วางใจให้คุณรู้
10. ให้คำชมอย่างจริงใจ
หากเขาทำบางอย่างได้ดี ให้คำชมอย่างจริงใจเพื่อสร้างความมั่นใจและกำลังใจ โดยเฉพาะคำชมที่สะท้อนถึงความพยายามของเขา
11. เว้นระยะเมื่ออีกฝ่ายอารมณ์ไม่ดี
หากเขาอารมณ์เสียหรือเครียด ให้เวลาสักพักก่อนคุย เพื่อไม่เพิ่มความกดดัน
12. จำสิ่งสำคัญของเขาได้
เช่น วันเกิด ความชอบ หรือเหตุการณ์สำคัญในชีวิต สิ่งนี้ทำให้เขารู้ว่าคุณใส่ใจ
13. ทำสิ่งเล็ก ๆ ที่แสดงความห่วงใย
เช่น ทำอาหารที่เขาชอบ หยิบของให้ หรือถามว่าเขาต้องการอะไร
14. มองจากมุมมองของเขา
เข้าใจเหตุผลของเขาก่อน (empathy) ก่อนที่เราจะตัดสินอะไรออกไป
15. จัดการอารมณ์ของตัวเอง
ควบคุมอารมณ์จัดการตนเอง (Self-management) ก่อนพูดหรือทำสิ่งใดที่อาจกระทบใจเขา
16. ตระหนักรู้ในตนเอง
วิธีจัดการปัญหาตรงหน้าที่ดีที่สุดคือ การกลับมาตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ก่อน การเห็นว่าตัวเองรู้สึกอะไร คิดอะไร จะช่วยให้เรายอมรับ และจัดการอารมณ์ ความคิดตัวเองได้ง่ายขึ้น
บทสรุป – การรักษาน้ำใจคนใกล้ตัวไม่ใช่ศาสตร์ที่ซับซ้อน แต่เป็นศิลปะที่ต้องการความใส่ใจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL) เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางความสัมพันธ์ ช่วยให้เรา:
- เข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง
- รับรู้และเห็นอกเห็นใจความรู้สึกของผู้อื่น
- สร้างสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างกัน
เมื่อคุณเริ่มใส่ใจและรักษาน้ำใจคนใกล้ตัว คุณกำลังส่งสัญญาณที่ยิ่งใหญ่กว่าคำพูด – นั่นคือความเคารพ ความรัก และความห่วงใย