“การทำได้น้อยกว่าที่คาดหวัง… ย่อมดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย…” เป็นประโยคที่ผมชอบมากจากหนังสือ Atomic Habits โดยคุณเจมส์ เคลียร์ (James Clear) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนิสัย
การพัฒนาตนเองไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น แต่เป็นการเดินทางไกลที่ต้องก้าวไปอย่างสม่ำเสมอ “มิใช่การฮึดสู้แค่วันนี้ แต่พรุ่งนี้ผลอยนอนหลับ!” เพราะความสำเร็จเกิดจากการพัฒนา 3 องค์ประกอบสำคัญไปพร้อมกัน ได้แก่ ทักษะ (Skills) นิสัย (Habits) และกรอบความคิด (Mindset)
บทความนี้จะนำเสนอกฎ 12 ประการที่ผสานแนวคิดการสร้างนิสัยจาก Atomic Habits เข้ากับกรอบความคิดการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning – SEL) เพื่อช่วยให้คุณได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ยกระดับการจัดการอารมณ์ และพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนี้
12 กฎพัฒนาตนเอง (12 Self-Development Rules Cheat Sheet)
1. กฎ 80/20 (Pareto Principle)
หลักการพาเรโต หรือที่รู้จักในชื่อกฎ 80/20 ถูกคิดค้นโดย วิลเฟรโด พาเรโต นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี เจ้าของแนวคิดที่ว่า “ผลลัพธ์ 80% เกิดจากตัวแปรเพียง 20%”
การนำไปใช้:
อันดับแรกคุณต้องแยกแยะระหว่างส่วนสำคัญมาก (20%) และส่วนสำคัญน้อย (80%) ก่อน โดยเราจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกิจกรรม 20% ที่สร้างผลลัพธ์ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านงาน ความสัมพันธ์ หรือเป้าหมายส่วนตัว สุดท้ายจัดสรรเวลาและพลังงานให้กับกิจกรรมที่สร้างผลกระทบสูงสุด
บูรณาการ SEL:
พัฒนาการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ช่วยให้คุณเข้าใจพฤติกรรมและผลลัพธ์ของตนเองได้ดีขึ้นด้วยการเข้าใจว่าสิ่งใดนำไปสู่ความสำเร็จ คุณสามารถมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมที่สอดคล้องกับคุณค่าและเป้าหมายส่วนตัวได้
2. กฎ 1% (The 1% Improvement Rule)
กฎนี้เน้นว่าการพัฒนาเพียง 1% ในแต่ละวันสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเวลาผ่านไป ความพยายามเล็ก ๆ ที่สม่ำเสมอนี้จะทบต้นทบปลายจนเกิดการเติบโตอย่างทวีคูณ เปรียบเทียบง่ายๆ คือ พัฒนาขึ้น 1% ต่อวัน: (1.01)^365 = ดีขึ้น 37 เท่า / แย่ลง 1% ต่อวัน: (0.99)^365 = แย่ลง 37 เท่า
การนำไปใช้:
มุ่งเน้นการพัฒนาทีละเล็กทีละน้อยในแต่ละวันแต่ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ทักษะใหม่ การดูแลสุขภาพ หรือการพัฒนาความสัมพันธ์ การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ เหล่านี้เมื่อนำไปใช้ต่อเนื่องจะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
บูรณาการ SEL:
การจัดการตนเอง (Self-management) มีบทบาทสำคัญในการรักษาวินัยและความสม่ำเสมอ การจัดการอารมณ์และการควบคุมตนเองช่วยให้คุณยึดมั่นในเป้าหมาย การพัฒนาเล็ก ๆ นี้ สร้างนิสัยระยะยาวที่ส่งเสริมการเติบโตส่วนบุคคลและทางอารมณ์
3. กฎ 10,000 ชั่วโมง (The 10,000-Hour Rule)
กฎ 10,000 ชั่วโมง กฎที่ได้รับความนิยมจากหนังสือชื่อดังของ Malcolm Gladwell นำเสนอในหนังสือ Outliers กล่าวคือ การจะเชี่ยวชาญในทักษะใดๆ ต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างน้อย 10,000 ชั่วโมง
การนำไปใช้:
1) แตกเป้าหมายใหญ่เป็นงานย่อย
2) จัดตารางฝึกฝนประจำวัน
3) ติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ
บูรณาการ SEL:
การจัดการตนเอง (Self-management) เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาความเชี่ยวชาญ ผ่านการสร้างวินัยในตนเอง การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน การรักษาแรงจูงใจระยะยาว การติดตามและประเมินผลความก้าวหน้า
4. กฎ 5/25 (Warren Buffett’s 5/25 Rule)
กฎ 5/25 ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) หลักการสำคัญ: “เมื่อเวลามีจำกัด ต้องเลือกโฟกัสเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน”
การนำไปใช้:
1) เขียนรายการเป้าหมายชีวิต 25 ข้อ
2) เลือก 5 เป้าหมายที่สำคัญที่สุดก่อน
3) มุ่งเน้นทำเฉพาะ 5 ข้อนั้นให้สำเร็จ
4) หลีกเลี่ยงการใช้เวลาในเป้าหมายที่เหลืออีก 20 ข้อจนกว่าจะทำ 5 ข้อแรกได้สำเร็จ
บูรณาการ SEL:
การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ช่วยให้คุณรับรู้ตนเองว่าสิ่งใดที่คุณให้คุณค่า จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลว่าควรทุ่มเทความพยายามไปที่ไหน เพื่อให้การกระทำของคุณสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว
5. กฎ 5 วินาที (The 5-Second Rule)
กฎ 5 วินาทีของ Mel Robbins นำเสนอเทคนิคนับถอยหลัง 5 วินาที แล้วลงมือทำในทันที กฎนี้ออกแบบมาเพื่อทำลายวงจรของความลังเลและการผัดวันประกันพรุ่ง เทคนิคนี้ช่วยให้คุณเอาชนะความกลัวและความเฉื่อย ทำให้คุณลงมือทำก่อนที่ความสงสัยจะเข้ามาขัดขวาง
การนำไปใช้:
1) เมื่อต้องการลงมือทำแต่ลังเล
2) นับถอยหลัง: 5-4-3-2-1
3) ลงมือทำทันทีโดยไม่รอช้า
บูรณาการ SEL:
กฎนี้ส่งเสริมการการจัดการตนเอง (Self-management) ช่วยให้คุณควบคุมแรงกระตุ้นภายใน ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการคิดวนซ้ำที่ไม่จำเป็น
6. กฏ 2 นาที (The 2-Minute Rule)
หลักการสำคัญของกฏนี้คือ “ถ้างานใดใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาที ให้ลงมือทำทันที” เช่น การตอบอีเมล หรือจัดพื้นที่ทำงานให้เป็นระเบียบ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการสร้างนิสัยใหม่ “เมื่อคุณเริ่มต้นฝึกนิสัยใหม่ ควรจะใช้เวลาฝึกทำน้อยกว่า 2 นาที” ตัวอย่างเช่น แทนที่จะ “อ่านหนังสือก่อนเข้านอน” เปลี่ยนเป็น “อ่านหนังสือ 1 หน้า” คีย์สำคัญของกฏ 2 นาทีในการสร้างนิสัยใหม่คือ “จงกำหนดสิ่งที่เริ่มต้น ให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้”
การนำไปใช้:
1) จัดการงานเล็กๆทันที ก่อนที่จะสะสม
2) ถ้างานใดใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาที ให้ลงมือทำทันที” เช่น การตอบอีเมล หรือจัดระเบียบโต๊ะทำงาน เป็นต้น
3) เริ่มนิสัยใหม่ด้วยขั้นตอนที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที
บูรณาการ SEL:
องค์ประกอบของการจัดการตนเอง (Self-management) ใน SEL ช่วยให้คุณจัดการตัวเองได้อย่างเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการผัดวันประกันพรุ่งในงานเล็ก ๆ นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ ลดความเครียดโดยการทำให้งานอยู่ในระดับที่จัดการได้
7. กฎ 5 นาที (The 5-Minute Rule)
หลักการสำคัญคือ “เมื่อไม่อยากทำงาน ให้คำมั่นว่าจะทำเพียง 5 นาที” เคล็ดลับของกฏนี้เกี่ยวกับการใช้ Mental trick นิดหน่อยนั่นคือ การให้สัญญากับตัวเองว่าจะใช้เวลาเพียง 5 นาทีกับงานใดๆ ก็ตามที่คุณหลีกเลี่ยง (หรือรู้สึกไม่อยากจะทำ) ซึ่งคุณสามารถหยุดได้ตามต้องการก็ต่อเมื่อผ่านไป 5 นาทีแล้วเท่านั้น
การนำไปใช้:
- เลือกงานที่มักผัดวันประกันพรุ่ง
- ตั้งเวลา 5 นาที และเริ่มทำโดยไม่คิดมาก
- ประเมินความรู้สึกหลัง 5 นาที จบลง
บูรณาการ SEL:
การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) คือคีย์สำคัญ การสังเกตอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังการผัดวันประกันพรุ่ง และใช้กฎนี้เพื่อจัดการกับมันจะช่วยเพิ่มผลิตภาพและรักษาสมดุลทางอารมณ์
8. กฎ 2 วัน (The 2-Day Rule)
หลักการสำคัญคือ “อย่าหยุดทำพฤติกรรมที่ต้องการสร้างเป็นนิสัยเกิน 2 วันติดต่อกัน” เหตุผลคือ พลาด 1 วันยังยอมรับได้ แต่การหยุด 2 วันติดอาจทำลายนิสัยใหม่ที่กำลังสร้าง ซึ่งทำให้ขาดโมเมนตัมในการพัฒนาตนเอง
การนำไปใช้:
1) ติดตามกิจวัตรประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ หรือการจดบันทึก
2) หากพลาด 1 วัน ต้องกลับมาทำในวันถัดไปทันที (อย่าพลาด 2 วันติดกัน)
3) ควรสร้างระบบติดตามความต่อเนื่อง
การบูรณาการกับ SEL:
การจัดการตนเอง (Self-management) ช่วยให้คุณรักษาวินัยในการทำกิจวัตร ควบคุมพฤติกรรมอย่างสม่ำเสมอ และจัดการอารมณ์ตนเองได้เมื่อพลาดเป้าหมาย
9. กฎ 21 วัน (The 21-Day Rule)
กฏ 21 วัน จากแนวคิดของ Dr.Maxwell Maltz กล่าวว่า “การสร้างนิสัยใหม่ใช้เวลา 21 วัน” ถึงแม้ว่างานวิจัยใหม่ ๆ จะชี้ว่าอาจใช้เวลานานกว่า 21 วันถึงจะเกิดการยอมรับและเปลี่ยนแปลงนิสัยใหม่ แต่กฎนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเริ่มต้น
การนำไปใช้:
1) กำหนดนิสัยหรือพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการสร้าง
2) ให้คำมั่นกับนิสัยใหม่เป็นเวลา 21 วันติดต่อกัน
3) จดบันทึกความก้าวหน้า หรือระบบติดตามความต่อเนื่อง
การบูรณาการกับ SEL:
การจัดการตนเอง (Self-management) ช่วยให้คุณตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงและบรรลุได้ พร้อมกับรักษาแรงจูงใจตลอดช่วง 21 วัน เพื่อให้แน่ใจว่านิสัยใหม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาส่วนบุคคลและการจัดการอารมณ์
10. กฎ 6 เดือน (The 6-Month Rule)
หลักการสำคัญคือ “การถามตัวเองว่า… สิ่งที่กำลังกังวลอยู่ตอนนี้ จะยังมีความสำคัญในอีก 6 เดือนหรือไม่…?” หากไม่… ก็ไม่จำเป็นต้องเครียดกับมัน
การนำไปใช้:
1) เมื่อรู้สึกเครียดหรือหงุดหงิด ให้หยุดคิดสักครู่
2) ถามตัวเอง “ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เรื่องนี้จะยังสำคัญอยู่ไหม?”
3) หากไม่สำคัญ ให้ปล่อยวางและก้าวต่อไป
การบูรณาการกับ SEL:
ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ช่วยให้คุณสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ และลดความเครียดที่ไม่จำเป็น โดยมุ่งโฟกัสไปที่สิ่งที่สำคัญจริง ๆ
11. กฎ 90-90-1 (The 90-90-1 Rule)
หลักการสำคัญคือ “ใช้ 90 นาทีแรกของวัน เป็นเวลา 90 วันติดต่อกัน เพื่อทำงานที่สำคัญที่สุด 1 อย่าง” การให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วง 90 นาทีแรกของวัน เพื่อป้องกันก่อนที่งานอื่นจะเข้ามาแทรกแซง
การนำไปใช้
1) ระบุเป้าหมายสำคัญ: เลือกงานที่มีผลกระทบสูงสุด เช่น อาจเป็นการเขียน การเรียนรู้ หรือโปรเจคสำคัญ
2) จัดการเวลา คือ การบล็อก 90 นาทีแรกของวัน ขจัดสิ่งรบกวนทั้งหมด ไม่เช็คอีเมลหรือโซเชียลมีเดีย
3) ติดตามความก้าวหน้า มีการบันทึกผลลัพธ์แต่ละวัน ประเมินความคืบหน้า และปรับแผนตามความเหมาะสม
การบูรณาการกับ SEL:
กฎ 90-90-1 ต้องใช้ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management) ที่แข็งแกร่ง การจัดการเวลา การจัดการอารมณ์ และการจัดการกับแรงกระตุ้น เหล่านี้คือคีย์สำคัญในการรักษาวินัย
12. กฏ 3 ข้อ (The Rule of Three)
หลักการสำคัญคือ “อะไรคือ 3 สิ่งสำคัญในวันนี้” เพื่อให้เราจำกัดเป้าหมายไว้เพียงสามข้อช่วยเพิ่มโอกาสในการทำให้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องรับภาระมากเกินไปต่อวัน
การนำไปใช้
1) เลือก 3 งานสำคัญที่สุด (ควรเลือกงานที่ส่งผลต่อเป้าหมายระยะยาว)
2) โฟกัสทีละงานจนเสร็จ *หลีกเลี่ยงการทำหลายอย่างพร้อมกัน ให้ความสำคัญกับ 3 งานนี้ก่อนงานอื่น
3) สร้างแรงจูงใจ ควรยอมรับความสำเร็จแม้เป็นงานเล็กน้อย เห็นคุณค่าของความก้าวหน้าทีละขั้นโดยใช้ความสำเร็จรายวันเป็นแรงผลักดันสู่เป้าหมายใหญ่
การบูรณาการกับ SEL:
กฎสามข้อนี้สนับสนุนการจัดการตนเอง (Self-management) ช่วยให้คุณจัดการตัวเองอย่างเป็นระเบียบและหลีกเลี่ยงความรู้สึกแน่นไปหมด การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนตามกรอบ SEL ยังช่วยให้คุณแบ่งเป้าหมายใหญ่ให้เป็นขั้นตอนที่จัดการได้ง่าย ช่วยเพิ่มทั้งผลิตภาพและความสมดุลทางอารมณ์
บทสรุป —การนำกฎเหล่านี้มารวมกับการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) ช่วยให้คุณพัฒนาตนเองอย่างมีโครงสร้าง โดยเน้นทั้ง Productivity และความฉลาดทางอารมณ์ การมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเล็ก ๆ ที่สามารถทำได้จริงจะช่วยสร้างนิสัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว พร้อมทั้งเพิ่มการตระหนักรู้ในตนเอง การบริหารจัดการตนเอง และทักษะการตัดสินใจ
Source:
https://jamesclear.com/atomic-habits
https://casel.org/fundamentals-of-sel/what-does-the-research-say/
รวมกฎพัฒนาตนเองว่าด้วย ตัวเลข | อาหารสมอง The BookTeller