สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางใจภายในทีม Psychological Safety

Psychological Safety integrate SEL

ครั้งสุดท้ายที่คุณรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่คุณทำคือเมื่อไหร่หรอครับ….?

อาจจะลองนึกย้อนถึงบริบทของการทำงานก็ได้นะครับ ในช่วงเวลาที่คุณรู้สึกภูมิใจในตัวเองกับงานที่ทำจริงๆ ตอนนั้นสภาพแวดล้อมในการทำงาน หัวหน้า หรือทีมของคุณเป็นแบบไหนหรอครับ?

หรืออาจจะนึกถึงตอนที่คุณเรียนมหาวิทยาลัย คุณต้องทำงานกลุ่มกับเพื่อนๆ บรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไร? เพราะทั้งหมดที่ผมเกริ่นมา ไม่ว่าประสบการณ์ของคุณจะยอดเยี่ยมหรือยอดแย่ คีย์สำคัญอยู่ที่คำว่า “Psychological Safety”


Psychological Safety คืออะไร?


“Psychological Safety” หรือ “ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา” หรือที่ผมพาดหัวด้วยคำที่เข้าใจง่ายๆ ว่า “ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ”

คำนี้ถูกคิดค้นโดยศาสตราจารย์ Amy Edmondson แห่ง Harvard Business School ในปี 1999 ท่านกล่าวโดยสรุปอย่างง่ายไว้ว่า “มันคือการรู้สึกว่าได้รับอนุญาตให้พูดอย่างตรงไปตรงมา” โดยเฉพาะในบริบทของการทำงานที่สมาชิกในทีมกล้าที่จะแสดงความคิดและข้อกังวล ถามคำถาม และยอมรับความผิดพลาดล้มเหลว – ทั้งหมดนี้โดยปราศจากความกลัวต่อผลกระทบในแง่ลบ

ซึ่งนักสังคมศาสตร์ (Social scientists) ในปัจจุบัน มองว่า “Psychological Safety” เป็นหนึ่งในความต้องการตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs)

นั้นแปลว่ามนุษย์จำเป็นต้องมีการตอบสนองต่อความต้องการขั้นต่ำเพื่อที่จะอยู่รอด ขยับไปสู่ความปลอดภัย ความมั่นคง (Safety, Security) การมีความสัมพันธ์ที่ดี การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (Love, Sense of Belongings) ไปจนถึงความเคารพ (Esteem)  และบรรลุเป้าหมายของชีวิตตามอุดมคติของตนเอง  (Self-Actualization) นั่นแปลว่า “ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ” อยู่ในทุกที่ของการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่ทำงาน โรงเรียน และที่บ้าน


  • การสื่อสารที่เพิ่มขึ้น: เมื่อคนรู้สึกปลอดภัย เขาก็มีแนวโน้มที่จะกล้านำเสนอความคิด ข้อกังวล ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจและการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น
  • การมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้น: เมื่อคนรู้สึกว่าตนเองได้รับการรับฟังหรือได้ยิน เขาจะรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น ส่งผลต่อความมุ่งมั่นต่อองค์กรหรือกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้น
  • เกิดความคิดสร้างสรรค์: สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เนื่องจากพวกเขาจะไม่กลัวที่จะนำเสนอแนวคิดใหม่ และรับความเสี่ยงได้

ศาสตราจารย์ Amy Edmondson ได้พัฒนาแบบสอบถามอย่างง่าย 7 ข้อเพื่อประเมินการรับรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางจิตใจได้ (เครื่องมือตัวเต็มบนเว็บไซต์ของ Edmondson)

วิธีที่สมาชิกในทีมตอบคำถามเหล่านี้ จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงระดับความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจของพวกเขาได้:

  • เมื่อคุณทำผิดพลาดในทีมนี้ มันจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นข้อทำร้ายคุณ?
  • คุณสามารถตั้งคำถาม หรือหยิบยกประเด็น/ปัญหาขึ้นมาพูดคุยได้?
  • ความคิดเห็น/มุมมองของคุณได้รับการฟัง ไม่ว่าทีมจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม?
  • คุณรู้สึกปลอดภัยไหมที่จะทำเรื่องเสี่ยงๆ ในทีมนี้?
  • คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมได้อย่างไม่ยากนัก?
  • ไม่มีใครในทีมจงใจบั่นทอนความพยายามของตัวคุณ?
  • ทักษะและความสามารถเฉพาะตัวของคุณได้รับการให้คุณค่าและนำมาใช้ประโยชน์ในทีมนี้?

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Amy Edmondson ได้เตือนว่าคะแนนเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ชี้ขาด แต่จุดสำคัญ คือ การใช้ประโยชน์ของข้อมูลมาสะท้อนประสบการณ์ของทีม ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า “เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจให้เกิดขึ้น?


การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) คือ กระบวนการเรียนรู้ (process) เพื่อพัฒนาทักษะ (skills) ที่จำเป็นในการเข้าใจและจัดการอารมณ์ ตั้งและบรรลุเป้าหมายเชิงบวก แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น สร้างและรักษาความสัมพันธ์เชิงบวก และตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ ดังนั้น การนำการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (SEL) เข้ามาในสถานที่ทำงาน โรงเรียน หรือที่บ้านสามารถช่วยเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจได้เป็นอย่างมาก

ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ แปลว่า…

ผมสรุปเป็นข้อความง่ายๆ ว่า “เมื่อใดที่คุณมีความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ แปลว่า คุณสามารถที่จะ….” และผมขอเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนา SEL ที่สามารถเสริมสร้างเข้าไปในแต่ละข้อได้อย่างไรบ้าง ดังนี้

1. กล้าขอความช่วยเหลือ

หากเรามี “ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ”  เราจะรู้สึกสบายใจที่จะขอความช่วยเหลือโดยไม่กลัวการตัดสินหรือการตอบโต้ในทางลบ นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้และการพัฒนาของคนหนึ่ง

การเชื่อมโยงกับ SEL: บุคคลเกิดการรับรู้ตนเอง (recognize) เห็นความต้องการการช่วยเหลือที่ปรากฏขึ้น และความรู้สึกสบายใจในการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งช่วยพัฒนาการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) และการตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness)

2. กล้าแสดงความกังวล

เราจะกล้าแสดงความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการ การตัดสินใจ หรือพฤติกรรมต่างๆ โดยไม่กลัวผลลัพธ์ทางลบกลับมาที่ตนเอง ซึ่งความกล้าเปิดเผยนี้สามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

การเชื่อมโยงกับ SEL: ช่วยในเรื่องทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการควบคุมหรือจัดการตนเอง (Self-management) ทำให้บุคคลสามารถแสดงความกังวลอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานความเคารพต่อผู้อื่นด้วย

3. ไม่เห็นด้วยอย่างสุภาพ

“ความไม่เห็น” ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราทำงานร่วมกับผู้อื่น และมันสามารถเป็นประโยชน์หากเรามีการจัดการอย่างสุภาพ ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจทำให้สมาชิกในทีมสามารถถกประเด็นหรืออภิปรายได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

การเชื่อมโยงกับ SEL: บุคคลจะได้เรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาและวิธีการจัดการความไม่เห็นด้วยโดยไม่ทำลายความสัมพันธ์

4. กล้าขอคำชี้แจง

การชี้แจงข้อสงสัยควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งช่วยป้องกันความเข้าใจผิดและทำให้แน่ใจว่าทุกคนมีความเข้าใจที่ตรงกัน

การเชื่อมโยงกับ SEL: ช่วยส่งเสริมการฟังอย่างตั้งใจและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคคลรู้สึกสบายใจในการถามคำถามและขอคำชี้แจง

5. กล้าถามคำถามที่ยาก

สภาพแวดล้อมที่คนมีความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ ช่วยให้บุคคลสามารถถามคำถามที่ท้าทาย หรือคำถามที่ยากที่จะตอบได้ ซึ่งนำไปสู่การรับรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นและการวิเคราะห์ปัญหาที่ละเอียดมากขึ้น

การเชื่อมโยงกับ SEL: ช่วยพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา ทำให้บุคคลสามารถถามคำถามที่ยากและสำรวจประเด็นที่ซับซ้อนได้

6. พร้อมยอมรับข้อผิดพลาด

การยอมรับข้อผิดพลาดโดยไม่กลัวการตำหนิหรือการลงโทษเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้และการเติบโต ในสถานที่ที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ คนจะกล้ายอมรับข้อผิดพลาด และพร้อมที่จะเรียนรู้จากมัน

การเชื่อมโยงกับ SEL: ช่วยให้เราเกิดการสะท้อนตนเอง รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และเรียนรู้จากประสบการณ์

7. ช่วยเสนอทางแก้ไข

บุคคลจะรู้สึกมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ปัญหา และรับรู้ความสามารถในการเสนอทางแก้ไขของตนเองเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากเพิ่มการมีส่วนร่วมแล้ว ยังได้ประโยชน์จากมุมมองที่หลากหลายในทีม

การเชื่อมโยงกับ SEL: ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือ ทำให้บุคคลสามารถคิดนอกกรอบและเสนอทางแก้ไข

8. กล้าให้และรับฟีดแบ็ก

ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตและการพัฒนาอย่างมืออาชีพ สถานที่ทำงานที่มีความปลอดภัยทางจิตใจช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมของการให้และรับข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจในการให้และรับข้อเสนอแนะ

การเชื่อมโยงกับ SEL: SEL เสริมเทคนิคการให้และรับข้อเสนอแนะอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความเห็นอกเห็นใจและเคารพ


1) เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Well-being)

เมื่อพนักงานรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจและมีทักษะ SEL ที่แข็งแกร่ง ความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมของพวกเขาก็จะดีขึ้น พวกเขาจะมีความพร้อมมากขึ้นในการจัดการกับความเครียด สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก และสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

2) เพิ่มการทำงานร่วมกันและความเป็นทีม

ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ และ SEL ส่งเสริมวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกันและการทำงานเป็นทีม พนักงานมีแนวโน้มที่จะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แบ่งปันความรู้ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน

3) เพิ่มนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุนจะกระตุ้นให้พนักงานกล้าเสี่ยงและคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะ SEL เช่น ความเห็นอกเห็นใจและการคิดเชิงวิพากษ์ ช่วยเสริมกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้น

4) ปรับปรุง Performance และ Productivity

เมื่อพนักงานรู้สึกมีคุณค่าและได้รับการสนับสนุน แรงจูงใจและความผูกพันของพวกเขาก็จะเพิ่มขึ้น นำไปสู่ระดับของ Performance และ Productivity ที่ดีขึ้นไปด้วย ทักษะ SEL ยังช่วยในการตัดสินใจและการแก้ปัญหาที่ดีขึ้นด้วย

5) ลดการลาออกและเพิ่มการรักษาพนักงาน

สถานที่ทำงานที่มีความปลอดภัยทางจิตใจและมุ่งเน้นที่ SEL สามารถลดอัตราการลาออกของพนักงานและเพิ่มการรักษาพนักงานได้ พนักงานมีแนวโน้มที่จะอยู่กับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี

—————

บทสรุป — “Psychological Safety” หรือ “ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา” หรือคำที่เข้าใจง่ายๆ ว่า “ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ” เมื่อมีการบูรณาการการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) เข้าไปด้วย ไม่เพียงแต่ปรับปรุงการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และนวัตกรรมแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกในด้านอื่นๆ ด้วย

ดังนั้น การพยายามทำความเข้าใจองค์ประกอบสำคัญของความปลอดภัยทางจิตวิทยาและบทบาทของ SEL จะช่วยให้คุณสามารถดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างสถานที่ทำงานที่สนับสนุนความรู้สึกปลอดภัย และการเติบโตในเชิงบุคคลด้วย ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำ ผู้จัดการ หรือสมาชิกในทีม การส่งเสริมความปลอดภัยทางจิตใจและ SEL สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จโดยรวมของทีมคุณได้

References:

https://www.mckinsey.com/featured-insights/mckinsey-explainers/what-is-psychological-safety
https://hbr.org/2023/02/what-is-psychological-safety
https://www.ccl.org/articles/leading-effectively-articles/what-is-psychological-safety-at-work
https://www.apa.org/topics/healthy-workplaces/psychological-safety

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

7 อุปนิสัย ของคนที่เก่งในการจัดการตนเอง

หลายคนเชื่อว่าพรสวรรค์คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่ความจริงแล้ว “ทักษะการจัดการตนเอง” ต่างหากที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ