วิธีตั้งคำถามที่เชื่อมโยงความคิดและอารมณ์

วิธีตั้งคำถามที่เชื่อมโยงความคิดและอารมณ์


“การตั้งคำถามที่ดี ไม่ใช่แค่การถามเพื่อถาม แต่มันควรทำหน้าที่เป็นเสมือนบันไดที่ช่วยให้เราสามารถเดินทางลึกเข้าไปในจิตใจของผู้ถูกถาม เพื่อเชื่อมโยงความคิดและอารมณ์อย่างมีความหมายด้วย”

จากประสบการณ์ของผม “คำถามแต่ละคำถาม มีค่าน้ำหนักไม่เท่ากัน” บางคำถามเพียงช่วยให้ผู้ตอบแค่ระลึกถึงข้อมูลความจำ ขณะที่บางคำถามกลับสามารถเปิดพื้นที่ให้เกิดการคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในบริบทของ Social and Emotional Learning (SEL) คำถามที่ดีสามารถช่วยให้ผู้ตอบได้

  1. สะท้อนความรู้สึกของตนเอง (Self-Awareness)
  2. ควบคุมอารมณ์และการตอบสนอง (Self-Management)
  3. เข้าใจมุมมองของผู้อื่น (Social Awareness)
  4. สร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งขึ้น (Relationship Skills)
  5. ฝึกทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลและรับผิดชอบ (Responsible Decision-Making)

ดังนั้น การตั้งคำถาม อย่างมีโครงสร้างจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยให้เราพัฒนา SEL ได้อย่างเป็นระบบ



แนวทางการตั้งคำถามตามกรอบ Bloom’s Taxonomy

เบนจามิน บลูม (Benjamin Bloom) นักจิตวิทยาการศึกษา ได้แบ่งพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ออกเป็น 6 ระดับของการคิด ซึ่ง ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ในห้องเรียน แต่ยังสามารถนำมาเป็นแนวทางในการ ตั้งคำถามที่ช่วยเสริม SEL ได้อีกด้วย

✨ Bloom’s Taxonomy ทำหน้าที่เป็น “โครงสร้างของคำถาม”
✨ SEL ทำหน้าที่เป็น “เป้าหมายของคำถาม”

เมื่อเราผสานสองแนวคิดนี้เข้าด้วยกัน เราจะสามารถสร้างคำถามที่ กระตุ้นให้ผู้ตอบสะท้อนอารมณ์ของตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และคิดอย่างมีเหตุผล เรามาลองดูกันว่าแต่ละระดับของ Bloom’s Taxonomy สามารถนำมาใช้พัฒนา SEL ได้อย่างไร

เป็นระดับพื้นฐานที่สุดของการเรียนรู้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียกคืนข้อมูลหรือความทรงจำที่ผ่านมา —ประโยชน์ต่อ SEL ช่วยให้ผู้ถูกถามสามารถระบุอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่นได้อย่างชัดเจนขึ้น

คีย์เวิร์ดในการถาม: อะไร (What), ใคร (Who), เมื่อไหร่ (When), ที่ไหน (Where), อย่างไร (How)*

ตัวอย่าง:

  • เมื่อวานคุณรู้สึกอย่างไร?
  • เหตุการณ์ใด ที่สร้างความประทับใจให้คุณที่สุด?
  • ใครเป็นบุคคลที่ทำให้คุณยิ้มได้ในวันที่ท้อแท้?

“สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร?” ระดับเข้าใจมุ่งเน้นการแปลความ ตีความ หรือขยายความของสิ่งนั้นๆ —เมื่อนำมาใช้กับ SEL ผู้ถูกถามจะได้โอกาสในการอธิบายความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ในคำพูดในความเข้าใจของตัวเขาเอง

คีย์เวิร์ดในการถาม: ทำไม (Why), เพราะอะไร (Because), หมายความว่า (Mean)

ตัวอย่าง:

  • ทำไมคุณถึงรู้สึกกลัวเมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ?
  • ความสุขหมายความว่าอย่างไรสำหรับคุณ?
  • เพราะอะไรคุณถึงกระแทกโต๊ะอย่างแรงตอนที่โกรธ?

ระดับนี้ต้องอาศัยทั้งความรู้และความเข้าใจ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้ —เมื่อนำมาใช้กับ SEL เราต้องการสำรวจว่าผู้ถูกถามมีวิธีจัดการอารมณ์ ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของตนเองอย่างไร (คำตอบที่ได้อาจมาจากประสบการณ์ที่เคยเจอ หรือ ความรู้และความเข้าใจใหม่ ที่ได้รับจากการเรียนรู้)

คีย์เวิร์ดในการถาม: ถ้า (If), สมมติว่า (Suppose), นำไปใช้ (Use), ปรับใช้ (Use)

ตัวอย่าง:

  • ถ้ามีคนทำให้คุณโกรธ คุณจะจัดการอารมณ์ตัวเองอย่างไร?
  • สมมติว่าคุณมีปัญหากับเพื่อนสนิท คุณจะหาทางแก้ไขอย่างไร?
  • คุณจะนำความรู้ที่ได้จากวันนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?

“อะไรคือเหตุและผล?” ระดับนี้เน้นการแยกแยะส่วนประกอบ และค้นหาความสัมพันธ์ของเหตุและผล เพื่อให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งขึ้น —เมื่อนำมาใช้กับ SEL คำถามในระดับนี้ช่วยให้เราเข้าใจที่มาและปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม

คีย์เวิร์ดในการถาม: สาเหตุ (Cause), ผลกระทบ (Effect), เปรียบเทียบความแตกต่าง (Compare)

ตัวอย่าง:

  • อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณมีปฏิกิริยาทางอารมณ์แบบนี้?
  • การแสดงออกทางอารมณ์ของเราส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างไร?
  • เปรียบเทียบวิธีจัดการความเครียดของคุณกับของเพื่อน คุณเห็นความแตกต่างอย่างไร?

“อะไรคือทางเลือกที่ดีที่สุด?” ระดับนี้เน้นให้ผู้ถูกถามใช้เหตุผลและวิจารณญาณ ในการตัดสินคุณค่า และ ประเมินความเหมาะสมของอารมณ์ ความคิด หรือพฤติกรรม —เมื่อใช้ในบริบทของ SEL คำถามในระดับนี้ช่วยให้ผู้ถูกถามสะท้อนมุมมองของตนเองเกี่ยวกับ ความรู้สึก ค่านิยม และการตัดสินใจ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)

คีย์เวิร์ดการถาม: เห็นด้วย (Agree), ไม่เห็นด้วย (Disagree), สำคัญ (Important)

ตัวอย่าง:

  • คุณเห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้อื่นหรือไม่? เพราะเหตุใด?
  • การให้อภัยเป็นสิ่งสำคัญหรือไม่? อธิบายเหตุผล
  • เป้าหมายชีวิตมีความสำคัญต่อความสุขอย่างไร?

“เราจะทำสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าได้อย่างไร?” ระดับนี้เป็นขั้นตอนสูงสุดของการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างแนวคิดใหม่ หรือออกแบบแนวทางใหม่ —เมื่อใช้กับ SEL คำถามในระดับนี้ช่วยให้ผู้เรียนคิดนอกกรอบ และพัฒนาแนวทางเฉพาะตัวในการรับมือกับสถานการณ์ทางอารมณ์และสังคม

คีย์เวิร์ดการถาม: สร้าง (Create), ออกแบบ (Design), คิดค้น (Invent)

ตัวอย่าง:

  • คุณจะออกแบบวิธีจัดการกับอารมณ์ยากๆ ได้อย่างไร?
  • ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ คุณอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร?
  • คุณจะคิดค้นวิธีใหม่ ๆ ในการรับมือกับความเครียดที่เหมาะกับตัวเองได้อย่างไร?

1. ระดับความจำ (Remembering) → ใช้ถามเกี่ยวกับขั้นตอนหรือข้อมูลพื้นฐาน

🔹 “คุณจะอธิบายอารมณ์โกรธได้อย่างไร?”

2. ระดับเข้าใจ (Understanding) → ใช้ถามเกี่ยวกับความหมายหรือแนวคิด

🔹 “อารมณ์มีผลต่อการตัดสินใจของเราอย่างไร?”

3. ระดับนำไปใช้ (Applying) → ใช้ถามเกี่ยวกับการนำแนวคิดไปใช้ในสถานการณ์จริง

🔹 “คุณจะจัดการกับความเครียดของตัวเองอย่างไร?”

4. ระดับวิเคราะห์ (Analyzing) → ใช้ถามเกี่ยวกับเหตุและผลหรือการเปรียบเทียบ

🔹 “พฤติกรรมของคุณเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน?”

5. ระดับประเมิน (Evaluating) → ใช้ถามเกี่ยวกับการให้เหตุผลหรือการตัดสินใจ

🔹 “คุณจะตัดสินได้อย่างไรว่าควรให้อภัยใครสักคน?”

6. ระดับสร้างสรรค์ (Creating) → ใช้ถามเกี่ยวกับการออกแบบหรือคิดค้นแนวทางใหม่

🔹 “คุณจะคิดค้นวิธีใหม่ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างไร?”


การพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL) เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความเข้าใจและความละเอียดอ่อน คำถามที่ดี สามารถช่วยเปิดพื้นที่ให้เกิดการไตร่ตรองตนเอง เชื่อมโยงความรู้สึก และพัฒนาความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. เริ่มต้นอย่างเป็นขั้นตอน

  • เริ่มจากคำถามง่าย ๆ ที่เน้นระดับ ความจำและความเข้าใจ
  • ค่อย ๆ เพิ่มความซับซ้อนของคำถามให้เหมาะสมกับระดับการคิด
  • สังเกตปฏิกิริยาของผู้ตอบ และปรับคำถามตามความเหมาะสม

ตัวอย่าง:
“วันนี้คุณรู้สึกอย่างไร?” → (ระดับความจำ)
“อะไรทำให้คุณรู้สึกแบบนี้?” → (ระดับเข้าใจ)
“คุณจะจัดการกับอารมณ์นี้อย่างไร?” → (ระดับนำไปใช้)

2. ปรับแต่งคำถามให้เหมาะสมกับบริบท

  • คำนึงถึงอายุและพัฒนาการของผู้ตอบ
  • สำหรับเด็กเล็ก → ใช้คำถามเกี่ยวกับอารมณ์พื้นฐาน เช่น “อะไรทำให้คุณมีความสุข?”
  • สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ → ใช้คำถามที่กระตุ้นให้คิดลึกขึ้น เช่น “ความเครียดส่งผลต่อคุณอย่างไร?”

3. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุน

  • ส่งเสริม “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ถูกตัดสิน
  • ฟังอย่างเปิดใจ และให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้อื่น
  • ทำให้ผู้ตอบรู้สึกว่าความคิดและอารมณ์ของพวกเขามีคุณค่า

ตัวอย่าง:
หากเพื่อนกำลังรู้สึกเศร้า แทนที่จะพูด “อย่าคิดมาก” → ลองถาม “มีอะไรที่ฉันช่วยได้ไหม?”

4. ฝึกทักษะการฟังอย่างใส่ใจ

  • ฟังด้วยความตั้งใจ (Active Listening) โดยให้ความสนใจเต็มที่
  • พยายามเข้าใจมุมมองและอารมณ์ของผู้พูด
  • หลีกเลี่ยงการขัดจังหวะ หรือเร่งรีบให้คำแนะนำ

ตัวอย่าง:
เมื่อมีคนเล่าปัญหา อย่าตอบกลับทันที → ลองสะท้อนความรู้สึก “ฟังดูเหมือนคุณรู้สึกกังวลมากเลย”

5. ส่งเสริมกำลังใจและการสนับสนุน

  • ชื่นชมความพยายามในการสื่อสารอารมณ์ แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์แบบ
  • ให้ความมั่นใจว่า “ไม่มีคำตอบที่ผิด” ทุกความรู้สึกมีคุณค่า
  • กระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าพูดถึงอารมณ์ของตนเองโดยไม่ต้องกลัวการตัดสิน

ตัวอย่าง:
หากเขาไม่มั่นใจในการตอบ ลองพูด “ฉันชอบที่คุณพยายามอธิบายความรู้สึกของตัวเอง”

6. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

  • ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
  • หลีกเลี่ยงคำศัพท์ที่ซับซ้อน หรือคำถามที่กดดันให้ต้องตอบเร็ว
  • แสดงความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจในน้ำเสียงและภาษากาย

ตัวอย่าง:
แทนที่จะถาม “คุณคิดว่าการจัดการอารมณ์เชิงบวกมีความสำคัญอย่างไร?”
➡ ลองถาม “เมื่อคุณรู้สึกโกรธ อะไรช่วยให้คุณใจเย็นขึ้น?”


ดังนั้น “คำถามที่ดี” ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สะท้อนอารมณ์และพัฒนาทักษะ SEL โดยเริ่มจากคำถามง่าย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับความลึกซึ้ง สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย ให้ทุกคนกล้าพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง ฝึกฟังอย่างใส่ใจ และให้กำลังใจเมื่อผู้อื่นแสดงออกทางอารมณ์ ใช้ภาษาที่เป็นมิตรและเข้าใจง่าย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเชิงลึก

บทสรุป: การเดินทางแห่งการเรียนรู้

การพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความอดทน ความเข้าใจ และความมุ่งมั่น Bloom’s Taxonomy เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถสำรวจและเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ผมเชียร์ให้คุณลองนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันดูนะครับ การตั้งคำถามที่มีความหมายนอกจากจะช่วยให้ผู้ถูกถามได้ตระหนักคิดแล้ว ยังช่วยให้เรา (ผู้ถาม) เกิดการเติบโต เรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

References
Revised Bloom’s Taxonomy – Question Starters. Retrieved from: https://facultycenter.ischool.syr.edu/wp-content/uploads/2015/10/Revised-Blooms-Questions-Starter.pdf

Lesson Planning using Bloom’s Taxonomy in my Math Classroom. Retrieved from: https://connectedtot.com/2020/07/08/lesson-planning-using-blooms-taxonomy-for-math/

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

วิธีสร้างความสัมพันธ์
วิธีสร้างความสัมพันธ์ ของคุณเป็นแบบไหน?

วิธีสร้างความสัมพันธ์ ของคุณเป็นแบบไหน? เป็นความสัมพันธ์ที่บั่นทอนพลังของกันและกัน หรือเป็นความสัมพันธ์ที่ช่วยเสริมสร้างให้เติบโตไปด้วยกัน

4 โชคที่คุณสร้างเองได้
4 โชคที่คุณสร้างเองได้

‘โชค’ ไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว แต่มีถึง 4 โชคที่คุณสร้างเองได้ และสองในสี่รูปแบบของโชคนั้น เชื่อมโยงกับกรอบแนวคิดของ SEL

16 วิธีรักษาน้ำใจ ที่ทำได้จริง

เมื่อเราคิดถึงตัวเองมาก ก็ง่ายมากที่เราจะเผลอพูดหรือกระทำอะไรที่ไม่รักษาน้ำใจผู้อื่นไปโดยไม่รู้ตัว และนี่คือ 16 วิธีรักษาน้ำใจที่ทำได้จริง