✦ Key Takeaways
1) คนจะคิดเมื่อถูกตั้งคำถาม (ไม่ว่าถามตนเอง หรือถูกผู้อื่นถาม) ถ้าถูกตั้งคำถามน้อย คนก็จะคิดน้อยไปด้วย เมื่อคิดน้อยการกระทำก็เปลี่ยนน้อย…
2) “คำถามทรงพลัง” คือ คำถามปลายเปิด หรือ Open Question (คือ คำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ
3) การถามคำถามทรงพลังกับตัวเอง ไม่ใช้การถามเพื่อหาคำตอบแล้วจบ! แต่คือการถามคำถามเพื่อค้นหาแนวทางพัฒนาและเติบโต (ซึ่งมันอาจใช้เวลาหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หรือหลายเดือนเพื่อจะเจอคำตอบ)
คนจะคิดเมื่อถูกตั้งคำถาม.. (ไม่ว่าถามตนเอง หรือถูกผู้อื่นถาม) ถ้าถูกตั้งคำถามน้อย คนก็จะคิดน้อยไปด้วย… เมื่อคิดน้อยการกระทำก็เปลี่ยนน้อย… แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือ มีคนหลายคนกลัวการถูกตั้งคำถามเพราะรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกจับผิดหรือถูกตรวจสอบ ถูกการกล่าวหา หรือถูกตัดสินจากผู้ถูกถามไปแล้ว ในขณะที่หลายคนรู้สึกว่าคำถามที่ถูกถามมามีจุดมุ่งหมายเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็น (ส่วนตัว) มากกว่าที่จะสนใจอย่างแท้จริง
วิธีแก้ปัญหาหนึ่งที่ผมนิยมใช้คือ การฝึกตั้งคำถามกับตัวเองก่อน จึงเป็นที่มาของบทความวันนี้ที่ผมอยากมาชวนคุณผู้อ่าน ใช้เวลาตรงนี้แวะพักจุดเช็คอินชีวิตช่วง 3 เดือนแรกนี้ก่อน ผ่านการใช้ชุดคำถามทรงพลัง (Power Questions) ซึ่งผมอ้างอิงวิธีการตั้งคำถามมาจากบทความก่อนหน้านี้เรื่อง ฝึกตั้งคำถามทรงพลัง (The Power Questions) ปลุก Awareness ทั้งผู้ถามและผู้ตอบ ปล. การถามคำถามทรงพลังกับตัวเอง ไม่ใช้การถามเพื่อหาคำตอบแล้วจบ! แต่คือการถามคำถามเพื่อค้นหาแนวทางพัฒนาและเติบโต (ซึ่งมันอาจใช้เวลาหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หรือหลายเดือนเพื่อจะเจอคำตอบ)
คำถามข้อที่ 1: ฉันเริ่มต้นทำอะไรบ้างหรือยัง? /ฉันอยากเริ่มต้นทำอะไร?
คำถามจุดประกายฝัน (Dreams)
คำถามข้อนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการกลับมาสำรวจตนเอง เพราะหากคุณยังไม่รู้เลยว่า ตนเองอยากเริ่มต้นทำอะไร… มันจะไม่ได้ทำอะไร!? ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นนิสัยใหม่ ฝึกทักษะใหม่ หรือการผจญภัยใหม่ๆ คุณต้องระบุออกมาให้ได้ก่อนว่า “อยากเริ่มต้นทำอะไร”
ปล. อย่าเริ่มต้นจากอะไรที่มันยากเกินไปหรือฝืนบังคับตัวเองเกินไป เพราะมันจะทำให้คุณหมดแรงจูงใจที่อยากจะทำสิ่งนั้นให้ต่อเนื่อง ให้เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อน เช่น อ่านหนังสือวันละ 1 หน้า, นั่งสมาธิก่อนนอน 1 นาที เป็นต้น
คำถามข้อที่ 2: ฉันควรหยุดทำอะไร?
คำถามเชิงกลยุทธ์ (Strategy)
ข้อนี้จะมุ่งค้นหานิสัยเชิงลบในปัจจุบันที่คุณมักทำบ่อยๆ เช่น การตำหนิตัวเอง การคิดลบต่อตัวเอง การโทษผู้อื่น หรือการยอมแพ้อะไรง่าย ๆ (ทั้งที่ยังไม่ทันได้เริ่มต้น) ดังนั้น ขั้นตอนแรก (1) ให้ระบุนิสัยหรือสิ่งที่คุณอยากหยุดหรือเลิกทำออกมาก่อน จากนั้น (2) กำหนดเป้าหมายนิสัยเชิงบวกที่อยากเริ่มทำ เช่น เข้านอนเวลา 22.00 น. ไม่เกิน 22.30 น. สุดท้าย (3) แตก Task ย่อยๆ ที่เป็นแอคชั่นใหม่ที่เราจะทำ เพื่อเพิ่มนิสัยเชิงบวกเหล่านั้น เช่น วางมือถือเวลา 21.00 น. จากนั้นอาบน้ำ และขึ้นเตียงนอนพร้อมอ่านหนังสือเบาๆ เป็นต้น
คำถามข้อที่ 3: ฉันควรทำอะไรให้มากขึ้น?
คำถามเชิงกลยุทธ์ (Strategy)
คำตอบของคำถามข้อนี้อาจเป็นอะไรที่มันเรียบง่ายมากๆ เช่น หัวเราะให้มากขึ้น ยิ้มให้มากขึ้น เพิ่มความสนุกมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ผจญภัยให้มากขึ้น เรียนรู้ให้มากขึ้น เพิ่มความสันติสุขในใจให้มากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น เป็นต้น ลองนึกถึงสิ่งที่ให้ผลลัพธ์เชิงบวก เป็นความรู้สึกที่หล่อเลี้ยงจิตใจ…
คำถามข้อที่ 4: ฉันควรทำอะไรให้น้อยลง?
คำถามเชิงกลยุทธ์ (Strategy)
ลองสังเกตตัวคุณเองดูว่าในช่วงชีวิตที่ผ่านมา “คุณมีอะไรมากเกินไป?” และคุณต้องการให้ตัวเองมีสิ่งนั้นน้อยลง เช่น ทำงานเกินกำหนดเวลาน้อยลง ลดอาหารหวานมันเค็มให้น้อยลง หรือนอนดึกน้อยลง เป็นต้น คีย์สำคัญคือยิ่งคุณทำสิ่งนั้นน้อยลง คุณยิ่งมีโอกาสเปิดรับสิ่งดีมากขึ้น
คำถามข้อที่ 5: ฉันควรเสริมสร้างความสัมพันธ์ใดบ้าง?
คำถามเชิงปฏิบัติการ (Execution)
การระบุความสัมพันธ์ที่คุณต้องการมุ่งเน้นสามารถช่วยให้คุณจัดลำดับความสำคัญของเวลาที่คุณต้องใช้ได้ เช่น การใช้เวลาคุณภาพกับคนที่คุณรักให้มากขึ้น การเพิ่มเวลาสำหรับการติดต่อกับเพื่อนเก่า หรือการสร้างความสัมพันธ์ทางอาชีพใหม่ๆ กับกลุ่มคนใหม่ๆ เป็นต้น
และที่สำคัญคุณควรเขียนออกมาเป็น Action plan เลยว่าจะทำอย่างไรบ้าง เช่น คุณกำหนดเรื่องการเพิ่มเวลาสำหรับการติดต่อเพื่อนเก่า / คุณจะติดต่อสัปดาห์ละกี่คน / ติดต่อด้วยวิธีไหน / เว้นระยะห่างเท่าไหร่ในการกลับไปพูดคุยอีกครั้ง เป็นต้น
คำถามข้อที่ 6: ฉันควรพัฒนาเพิ่มทักษะอะไรในตัวเอง?
คำถามเชิงปฏิบัติการ (Execution)
การเรียนรู้และพัฒนาไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงช่วงวัยใดวัยหนึ่ง การรับวิธีคิดแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต “Lifelong Learning” คือแนวคิดสำคัญที่จะช่วยให้คุณเป็นคนไม่ตกยุค ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องทำคือ การกำหนดทักษะที่อยากพัฒนาขึ้นมาก่อน จากนั้นดูว่าทักษะนี้ใช้วิธีเรียนรู้หรือฝึกฝนแบบนั้น จากนั้นกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนสำหรับการฝึกฝนทักษะนั้นๆ
คำถามข้อที่ 7: ฉันควรขอบคุณเรื่องอะไร?
หนังสือ The Power of Output ของคุณชิออน คาบาซาวะ กล่าวถึงประโยชน์ของ “การขอบคุณ” ที่พบในงานวิจัยมากมายว่าช่วยทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานเป็นปกติ และมีอายุยืนขึ้นกว่าคนที่ไม่กล่าวทำขอบคุณเลย ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ การขอบคุณทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมอง 4 ชนิดที่ดีต่อร่างกาย ได้แก่ โดพามีน (สารแห่งความสุข) เซโทนิน (สารแห่งความสงบ) ออกซิโทซิน (สารแห่งการผ่อนคลาย) และเอนดอร์ฟิน (สารแห่งความสุขขั้นสุด)
ซึ่งเราสามารถนำเทคนิค “บันทึกแห่งการขอบคุณ (Gratitude Journal)” มาใช้จดบันทึกสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณในแต่ละวันสัก 3-5 อย่างได้ เป็นเทคนิคที่ดีในการช่วยเพิ่มทักษะการตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and emotional learning; SEL) ดังนั้น ลองเริ่มจดบันทึกเรื่องราวที่คุณรู้สึกขอบคุณเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน เช่น จดบันทึกเรื่องที่ขอบคุณวันละ 3 ข้อ เช่น ขอบคุณร่างกายที่ยังเดินได้ ขอบคุณเงินในกระเป๋าสตังค์ที่ยังมีให้ใช้ หรือขอบคุณผู้คนที่พบเจอในวันนี้ เป็นต้น
บทสรุป —”คำถามทรงพลัง” หรือ Power Questions คือ คำถามปลายเปิด เป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ จากความคิดหรือความรู้สึกของตัวผู้ตอบเอง ดังนั้น คุณจึงไม่ต้องกังวลว่าคำตอบนั้นจะมีผิดหรือถูก แต่ให้ตระหนักรู้ในคำตอบที่เราตอบออกมาว่ามันจะนำพาตัวเราไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกหรือเชิงลบ หากมันนำพาไปสู่ผลเสียมากกว่า คุณก็แค่ตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนเส้นทาง
และสุดท้ายควรมีการกำหนดเวลาเป็นประจำเพื่อทบทวนและไตร่ตรองคำตอบของตัวเรา และดูว่าคุณจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.inc.com/lolly-daskal/7-powerful-questions-to-make-a-new-year-an-awesome-year.html
https://www.forbes.com/sites/rhettpower/2022/12/31/6-essential-questions-to-ask-yourself-in-the-new-year/?sh=12aab4a75914