✦ Key Takeaways
1) ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การตั้งเป้าหมาย (Goals) แต่อยู่ที่ขาดระบบ (Systems)!
2) การมีระบบ (Systems) จะช่วยให้คุณผูกติดกับคำว่า “วินัย” ได้ง่ายขึ้น
3) การมีวินัยต่อแผนงานและขั้นตอนปฏิบัติ จะเกิดเป็นนิสัย
ทำไมเป้าหมายที่เราตั้งไว้ถึงมักไม่ค่อยสำเร็จ หรือมักล้มเลิกไปกลางทาง…? คุณผู้อ่านเคยนึกสงสัยแบบผมไหมครับ หากเราลองมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุกันเล่นๆ ผมเชื่อว่าคำตอบที่ได้น่าจะเป็นว่า “เบื่อแล้ว…” “ขาดแรงจูงใจ…” “มีสิ่งให้ต้องทำสำคัญกว่าเป้าหมายนี้…” หรืออื่นๆ เป็นต้น
แต่หนังสือ Atomic Habits โดยคุณ James Clear ให้คำตอบที่แตกต่างออกไปครับ! ท่านบอกว่า “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เป้าหมาย (Goals) แต่อยู่ที่ระบบหรือกระบวนการ (Systems) ต่างหาก!” เพราะ Goal เป็นแค่ตัวกำหนดทิศทาง แต่ Systems คือสิ่งที่ทำให้เราก้าวหน้า
ก่อนเริ่มพูดคุยกัน ผมขอเฉลย 3 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนตั้งเป้าหมายก่อนนะ (เผื่อหลายท่านค้างคาใจ และเดี๋ยวผมจะอธิบายเพิ่มในบทความ)
1. ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การตั้งเป้าหมาย (Goals) แต่อยู่ที่ขาดระบบ (Systems)!
2. การมีระบบ (Systems) จะช่วยให้คุณผูกติดกับคำว่า “วินัย” ได้ง่ายขึ้น
3. การมีวินัยต่อแผนงานและขั้นตอนปฏิบัติ จะเกิดเป็นนิสัย
1. ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การตั้งเป้าหมาย (Goals) แต่อยู่ที่ขาดระบบ (Systems)!
ถึงแม้ผมจะบอกว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การตั้งเป้าหมาย แต่ผมก็มักพบว่าปัญหาหลักในการตั้งเป้าหมาย มีอยู่ 2 ข้อ ได้แก่
1. คุณมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์มากเกินไป
“เมื่อใดก็ตามที่คุณมุ่งเน้นแต่เพียงผลลัพธ์สุดท้ายเพียงอย่างเดียว คุณจะพบความยากลำบากในการไปถึงจุดนั้น…”
แน่นอนว่าการตั้งเป้าหมายดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายมากตอนเริ่มต้น มันจะรู้สึกตื่นเต้นและมีแรงฮึดที่จะอยากทำ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นมันจะอยู่ได้เพียงหนึ่งหรือสองสัปดาห์ จากนั้นเราจะเริ่มแผ่วลงหรือรู้สึกหมดแรงฮึดอย่างรวดเร็ว อาจจะด้วยเพราะไม่เห็นความคืบหน้าและมันใช้เวลานานเกินไปกว่าจะสำเร็จ
2. ความเข้าใจผิดที่ว่า “ฉันจะมีความสุขก็ต่อเมื่อทำเป้าหมายได้สำเร็จ”
เรามักจะตั้งเป้าหมายและคิดว่า ‘วันที่เป้าหมายสำเร็จ.. ฉันจะมีความสุข’ ผมเชื่อว่าหลายท่านคิดแบบนี้อยู่… แต่ผมอยากลองชวนนึกย้อนกลับไปถึงเป้าหมายล่าสุดที่คุณทำสำเร็จ (ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไรครับ? มีความสุข ยิ้ม ตื้นตันใจ และภูมิใจใช่ไหมครับ?) คำถามของผมคือ “ตอนนี้คุณยังรู้สึกแบบนั้นอยู่หรือเปล่า..?” ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่อาจจะลืมๆ ไปแล้ว สิ่งที่ผมจะสื่อคือ เมื่อใดที่เราเอาความสุขไปผูกไว้กับเป้าหมายสุดท้าย คุณจะมีความสุขเพียงแค่ครั้งเดียว! (คือตอนที่มันสำเร็จ)
แต่มันจะเป็นอย่างไร ถ้าระหว่างทางเรามีความสุขเล็กๆ ในทุกครั้งที่ทำภารกิจย่อยๆ ในระบบ (Systems) ที่เราวางไว้ได้สำเร็จ แปลว่าคุณจะไม่ได้มีความสุขแค่ครั้งเดียวแต่มากกว่า
“การทำซ้ำๆ อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อหรือน่ารำคาญ – นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเชี่ยวชาญในบางสิ่ง” – Hal Elrod
2. การมีระบบ (Systems) จะช่วยให้คุณผูกติดกับคำว่า “วินัย” ได้ง่ายขึ้น
คำถามที่ผมสงสัยคือ “แล้วเราควรตั้งเป้าหมาย หรือตั้งระบบมากกว่ากัน?” ซึ่งคุณ James Clear ได้ยืนยันคำตอบที่ชัดเจนว่า “เป้าหมายควรถูกตั้งก่อนเป็นอย่างแรก เพราะเป้าหมายมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางในการสร้างระบบ”
เทคนิคในการตั้งเป้าหมาย คือ:
1) จริงสำหรับคุณ – หมายความว่าคุณต้องการบรรลุเป้าหมายนั้นจริงๆ
2) ท้าทายและน่าตื่นเต้น – ต้องที่คุณตั้งเป้าหมาย ลองประเมินความรู้สึกตื่นเต้นของตนเองเมื่อคิดถึงการบรรลุเป้าหมายนั้นๆ (ถ้าไม่รู้สึกใดๆ เลย เป้าหมายนั่นมันอาจไม่ได้รู้สึกท้าทายอะไรต่อคุณนัก)
3) วัดผลได้และเฉพาะเจาะจง – หลีกเลี่ยงคำว่า “มากขึ้น” หรือ “น้อยลง” ในเป้าหมาย ที่แนะนำคือมันควรออกมาเป็นลักษณะตัวเลขที่วัดผลได้
เมื่อคุณตั้งเป้าหมายได้แล้ว จุดสำคัญถัดไปคือ “การออกแบบระบบหรือกระบวนการ”
การมีระบบหรือกระบวนการ จะช่วยให้คุณผูกติดกับคำว่า “วินัย” ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น คุณตั้งเป้าหมายลดน้ำหนัก 10 กิโล ใน 6 เดือน /คุณวางระบบการกินอาหารที่มีประโยชน์ ระบบการออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์ ระบบการยืดเหยียดระหว่างวัน ระบบการดื่มน้ำ ฯลฯ
คุณคิดว่าพอผ่านไป 6 เดือน คุณมีแนวโน้มที่น้ำหนักจะลดลงไหม /หรือมีรูปร่างที่ดีขึ้นไหม?
“นี่คือพลังของระบบที่แข็งแกร่ง“
“ไม่ทิ้งการตั้งเป้าหมาย แต่ต้องเพิ่มระบบ หรือกระบวนการขั้นตอนเข้าไป – James Clear”
3. เริ่มต้นสร้างระบบ (Systems) อย่างไร?
การสร้างระบบ คือ “การสร้างแผนงานและขั้นตอนปฏิบัติ จนเกิดเป็นนิสัย” การสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพควรสอดคล้องกับเป้าหมายที่คุณตั้งไว้
ในมุมมองส่วนตัว ผมมองว่ากระบวนการนี้มีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งเลยครับกับ 5 สมรรถนะสำคัญในกระบวนการ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning หรือ SEL) ดังนั้น การผสมผสาน SEL เข้ากับไปในระบบ (Systems) สามารถเพิ่มการตระหนักรู้ในตนเอง การจัดการตนเอง การตระหนักรู้ทางสังคม ทักษะความสัมพันธ์ และการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบได้ดีขึ้นครับ ดังนี้
1) กำหนดเป้าหมาย
ก่อนสร้างระบบ ให้กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนก่อน การรู้จุดหมายปลายทางช่วยให้การวางแผนการเดินทางง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเอง การเติบโตทางธุรกิจ หรือความสำเร็จเฉพาะด้าน เช่น การลดน้ำหนัก การเรียนภาษาใหม่
จุดนี้มีความเชื่อมโยงกับ SEL ในแง่ของการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ว่าเรามีความต้องการอะไร หรือจุดไหนที่อยากจะพัฒนา “ถ้าไม่ตระหนักรู้ ก็จะไม่เห็น / เมื่อไม่เห็น ก็ไม่เกิดขึ้น”
2) ปรับเปลี่ยนมายเซ็ท
2.1 ปล่อยวางความล้มเหลวในอดีต: ผมเข้าใจดีว่าความล้มเหลวในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้น สิ่งที่ผมเชียร์คือ “การพยายามไปต่อ มากกว่าฉุดรั้ง ลังเล สงสัยในความสามารถตนเอง” อย่าปล่อยให้มายเซ็ทว่าทำไปก็ล้มเหลวเหมือนเดิมมาฉุดรั้งดึงขาคุณไว้ไม่ให้ก้าวต่อ
จุดนี้สอดคล้องโดยตรงกับ SEL เรื่องการตระหนักรู้ในตนเองเลยครับ —มันคือการกลับมารับรู้และเข้าใจความคิด อารมณ์ความรู้สึก และสิ่งที่ตัวเราให้คุณค่า
2.2 เพิ่มมายเซ็ทของการเติบโต: การเชื่อในความสามารถของตนเองว่า “ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถพัฒนาและเติบโตได้” จินตนาการถึงภาพอนาคตที่คุณต้องการและพาตนเองไปเป็นคนคนนั้น
3) สร้างระบบ
3.1 การจัดกลุ่มงาน: พยายามรวบรวมงานที่คล้ายกันไว้ด้วยกัน และทำให้เสร็จในคราวเดียว วิธีนี้ช่วยลดเวลาการสลับงานไปมาระหว่างงานประเภทต่างๆ ตัวอย่างเช่น หากคุณมีเป้าหมายในการทำออนไลน์คอนเทนต์ ให้เริ่มด้วยการจัดกลุ่มเนื้อหาและกำหนดช่วงเวลาเฉพาะสำหรับการเขียน การออกแบบ และการจัดตารางโพสต์
2. การจัดระเบียบ: ใช้เครื่องมือ เช่น Google Sheets, Google Calendar หรือ Trello เพื่อจัดตารางวันของคุณอย่างละเอียด จัดระเบียบงานตามลำดับความสำคัญ และกำหนดเวลา รวมถึงการแบ่งงานใหญ่ออกเป็นชิ้นย่อยๆ ก็จะช่วยให้จัดการได้ง่ายขึ้น วิธีสอดคล้องโดยตรงกับ SEL เรื่องการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making) และการจัดลำดับความสำคัญ
3. การจำกัดสิ่งรบกวน: ปิดการแจ้งเตือนหรือตั้งค่าลดการรบกวนจากโซเชียลมีเดียหรือแอพที่ไม่จำเป็น หรืออาจใช้เทคนิค Pomodoro: ทำงาน 25 นาที แล้วพัก 5 นาที ทำซ้ำรอบนี้เพื่อรักษาสมาธิและ Productivity
4. การมุ่งเน้นที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์: มุ่งเน้นไปที่การลงมือทำในสิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้มากกว่าผลลัพธ์ที่มาจากปัจจัยภายนอก รวมไปถึงการเฉลิมฉลองชัยชนะเล็กๆ และความก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนและแรงจูงใจ
4) วินัย วินัย วินัย
เวลาพูดถึงคำว่า “วินัย” หลายคนจะนึกไปถึงกฏเกณฑ์หรือระเบียบข้อบังคับแต่เพียงเท่านั้น แต่ความหมายของคำนี้รวมไปถึง “ระเบียบวินัยของตนเอง” ด้วย คนที่มีวินัยในตนเองเขาจะไม่รอ “อารมณ์อยากทำ” หรือเขาจะไม่มีคำพูดทำนองว่า “วันนี้ไม่มีมูดเลย ไม่มีอารมณ์จะทำอะไร” แต่เขาจะสามารถทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เเม้ว่าจะไม่อยู่ในอารมณ์ที่อยากทำก็ตาม
ซึ่งสอดคล้องโดยตรงกับ SEL เรื่องการจัดการตนเอง (Self-management) เลยครับ ความสามารถในการโฟกัสเป้าหมาย และการจัดลำดับความสำคัญ
5) วัดผลและปรับเปลี่ยน
ควรทบทวน “ระบบ (Systems) ที่คุณออกแบบไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามันยังมีประสิทธิภาพอยู่ และหากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็ต้องยืดหยุ่นพอที่จะปรับเปลี่ยนนะครับ การปฏิบัตินี้สอดคล้องกับการเน้นย้ำของ SEL ในเรื่องการตระหนักรู้ในตนเองและการจัดการตนเอง
ตัวอย่างของการตั้งเป้าหมายและระบบที่สอดคล้องกัน
เป้าหมาย: การวิ่ง 5 กิโล
ระบบ:
- วิ่งเหยาะๆ วันละ 30 นาที
- รวมการยืดเหยียดและการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
- รักษาระดับน้ำในร่างกายด้วยการดื่มน้ำ 2 ลิตร/ต่อวัน
เป้าหมาย: การเรียนภาษาใหม่
ระบบ:
- กำหนดเวลา 30 นาที/วัน เพื่อฝึกฝน
- เปลี่ยนค่าพื้นฐานในโทรศัพท์มือถือ หรือโน๊ตบุ๊คเป็นภาษาอังกฤษ
- หาโอกาสในการสนทนากับเจ้าของภาษาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ
เทคนิคการรักษาระบบให้คงอยู่
1) ทำเล็กน้อยทุกวัน
การสร้างระบบจนเกิดนิสัยใหม่อาจดูน่ากลัว ดังนั้น ผมเชียร์ให้เริ่มจากเล็กๆ ที่จัดการได้หนึ่งอย่างทุกวันก่อนครับ ควรเป็นสิ่งที่คุณสามารถมุ่งมั่นแบบ 100% ได้ ตัวอย่างเช่น การจดบันทึกก่อนนอนวันละหนึ่งประโยค หรือการนั่งสมาธิหนึ่งนาที การเดินยืดเส้นสามนาที เป็นต้น การเริ่มต้นด้วยการออกแรงกระทำเล็กๆ ที่สม่ำเสมอเหล่านี้ละครับ ช่วยสร้างนิสัยและเป็นพื้นฐานสำหรับความพยายามที่ใหญ่ขึ้น
2) ติดตามความก้าวหน้า
การติดตามความก้าวหน้าอยู่เสมอ ช่วยรักษาระดับแรงจูงใจไว้ได้ครับ (และบางครั้งช่วยเพิ่มแรงจูงใจด้วยซ้ำ) การสะท้อนการกระทำเล็กๆ เหล่านี้ ว่าทำให้คุณรู้สึกอย่างไร? มีจุดไหนควรเพิ่ม ควรลด เป็นต้น
3) ทบเวลา
การทบเวลาเป็นเทคนิคการรวมนิสัยเล็กๆ เข้ามาด้วยกัน แนวคิดของมันคือ “บรรลุผลมากขึ้นในเวลาน้อยลง” โดยไม่ตกหลุมพรางของการทำหลายอย่างพร้อมกัน กลยุทธ์นี้สอดคล้องกับการมุ่งเน้นของ SEL ในเรื่องการจัดการตนเองโดยส่งเสริมการกระทำที่มีประสิทธิภาพและมีจุดมุ่งหมาย
ตัวอย่างของการทบเวลา:
- ฟังหนังสือเสียงขณะขับรถหรือเดินออกกำลังกาย
- การออกกำลังกายระหว่างโฆษณา
- การคิดถึงสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณขณะล้างจาน
แนวทางนี้ช่วยผสมผสานนิสัยที่ดีขึ้นเข้ากับกิจวัตรประจำวันของคุณ ทำให้มีแนวโน้มที่จะติดตัวและสนับสนุนเป้าหมายของคุณมากขึ้น
4) ประเมินความก้าวหน้า
คุณสามารถใช้คำถามเหล่านี้ได้ ตัวอย่างเช่น: ระบบที่ออกแบบมานั้นยังทำงานได้ดีหรือไม่? คุณยังโฟกัสที่การสร้างนิสัยใหม่หรือไม่? คุณยังต้องการบรรลุเป้าหมายของคุณอย่างแท้จริงหรือไม่?
การประเมินใหม่ทุกๆ สองสามสัปดาห์ช่วยให้มั่นใจว่าคุณอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องและช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น การปฏิบัตินี้สอดคล้องกับหลักการตระหนักรู้ในตนเองและการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบของ SEL
5) สนุกกับการเดินทาง
การชื่นชมกระบวนการ ความพยายามสร้างนิสัยใหม่ และข้อมูลเชิงลึกที่คุณได้รับเกี่ยวกับตัวคุณเอง ไม่ว่าคุณจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ก็ตาม คุณจะสามารถมองย้อนกลับไปและเห็นว่าคุณมาไกลแค่ไหน มุมมองนี้ส่งเสริมทัศนคติแห่งการเติบโตและความยืดหยุ่นทางอารมณ์
6) รักษาความสม่ำเสมอ
ระบบใหม่ที่คุณวางไว้จะค่อยๆ นำคุณไปสู่ผลลัพธ์ที่คุณต้องการ ความสม่ำเสมอเป็นกุญแจสำคัญ แต่ความยืดหยุ่นก็สำคัญเช่นกัน ปรับระบบของคุณตามความจำเป็นเพื่อรักษาความก้าวหน้าและประสิทธิภาพ
บทสรุป -อย่างที่ผมเกริ่นไปข้างต้นว่า “เป้าหมาย (Goal) เป็นแค่ตัวกำหนดทิศทาง แต่ระบบ (Systems) เปรียบเหมือนรถที่พาเราขับเคลื่อนไปข้างหน้า เราจะไปถึงจุดหมายได้ช้าหรือเร็วให้กลับมาดูที่ “ระบบ/หรือขั้นตอน” ที่เราวางไว้ และระบบที่ถูกออกแบบมาอย่างดี จะสามารถช่วยให้คุณปรับปรุงตัวเองได้ทีละเล็กทีละน้อยทุกวัน เพื่อช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้ และยิ่งนำหลักการของการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม Social and Emotional Learning เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งช่วยทำให้เกิดประโยชน์ x2
Sources:
https://steemit.com/success/@wcy/systems-are-for-winners-goals-are-for-losers
https://livinglikeleila.com/focus-on-creating-systems-rather-than-setting-goals/