✦ Key Takeaways
- อุปสรรคตัวสำคัญในการฟังของตัวเราคือ ความอยากพูด (ซึ่งเป็นความปรารถนาตามธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์)
- การฟังไปด้วยและทำอย่างอื่นไปด้วยพร้อมกัน (multitask) ไม่ได้ส่งผลดีต่อการฟัง
- สมองส่วนหน้าของเรา (frontal cortex) ประมวลผลสิ่งที่เราได้ยินตามลำดับ ไม่ใช่ประมวลผลแบบคู่ขนาน (not in parallel) แปลว่า สมองเรารับข้อมูล (อย่างจดจ่อ) ได้ครั้งละ 1 อย่าง
คุณเคยพยักหน้าตอบรับว่าเราเข้าใจขณะรับฟังบ้างไหม? แต่แท้จริงแล้วคุณแค่พยักหน้ารับๆ ไป แต่ไม่ได้ฟังหรือเปล่า? สารภาพกับคุณผู้อ่านตามตรงเลยว่าบ้างครั้งผมก็มีอาการแบบนั้น จนเกิดคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า… “เหตุใดการฟังอย่างตั้งใจ (active listening) หรือการรับฟังอย่างจดจ่อจึงเป็นเรื่องท้าทายจนถึงขั้นยากสำหรับบางคนนัก?
ข้อมูลจากการศึกษาของ International Listening Association พบว่า เราจดจำเรื่องราวหลังจากพูดคุยกับใครสักคนได้เพียง 25% เท่านั้นเอง นั่นแปลว่ามากกว่า 75% ของเวลาทั้งหมด เราไม่ได้ฟัง! ผมลองมานึกถึงระยะเวลาที่ผมใช้พูดคุยกับผู้คนในแต่ละวัน แม้ว่าผมจะพยายามเป็นผู้ฟังที่ดี ผมก็ยังคงมีช่วงเวลาที่ดูเหมือนฟัง (แต่เหมือนไม่ได้ฟังจริงๆ อยู่บ่อยครั้ง) ซึ่งทักษะการฟังเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมากตัวหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relationship skill) ในกระบวนการ #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (social and emotional learning; SEL) ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องราวการฟังอย่างตั้งใจ (active listening) ไว้ ฉะนั้น ในบทความนี้เราจะมาลองเจาะลึกถึงสาเหตุที่เป็นตัวขัดขวางการฟังอย่างตั้งใจของตัวเรากัน
1. อยากพูด
“การพูด” เป็นความปรารถนาตามธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ และการพูดเป็นหนึ่งในวิธีสร้างอัตลักษณ์ตัวตน และสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นคนมีความรู้ มีความเข้าใจ และเชี่ยวชาญในประเด็นที่พูด เราจึงพยายามที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เรารู้ออกไป “ความปรารถนา” ตัวนี้ละครับที่เป็นตัวขัดขวางไม่ให้เราจดจ่อและตั้งใจรับฟังคนตรงหน้า เพราะในหัวของเราวนเวียนอยู่กับการคิดว่าจะพูดตอบกลับไปอย่างไรที่แสดงว่าฉันมีความรู้ในเรื่องนี้
แต่เราดันลืมคีย์สำคัญของการฟังอย่างตั้งใจ (Active listening) ไปว่า “การที่เราฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ได้จมอยู่กับความคิดที่จะโต้ตอบของตัวเราเอง จะช่วยให้เราเข้าใจคนตรงหน้าและสามารถสร้างคำถามที่ลึกซึ้งได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น…” ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ ฝึกวางความคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะพูดหรือถาม มุ่งโฟกัสไปทีการรับฟังคนตรงหน้าอย่างตั้งใจและจดจ่อ
2. คุณกำลังตัดสินคนตรงหน้า
ธรรมชาติของมนุษย์มักตัดสินคำพูดและการกระทำของผู้อื่นอยู่เสมอ ดังนั้น เมื่อมีคนพูดบางสิ่งที่คุณคิดว่าผิดหรือไม่ตรงกับมุมมองของคุณ มันจึงเป็นเรื่องง่ายมากที่คุณจะเพิกเฉยต่อคำพูดของเขา แปลง่ายๆ ก็คือ “คุณจะไม่ฟัง” ดังนั้น แทนการรีบด่วนตัดสินคำพูดและการกระทำของคนตรงหน้า ให้คุณลอง “หยุดเพื่อฟังพวกเขาก่อน” บางทีคุณอาจพลาดบางสิ่งบางอย่างจากประโยคต่อมาที่เขากำลังจะพูดก็ได้
3. คุณมีอคติ
หากคุณมีอคติเกี่ยวกับใครบางคน คุณมีแนวโน้มจะปิดประตูการรับฟังของคุณทันทีอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น คุณคิดว่าคนตรงหน้าไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้เท่าคุณ –> คุณเกิดอคติในใจ –> ดังนั้น ภาษากายที่คุณแสดงออก อาจเป็นเพิกเฉย เย้ยหยัน หรือแม้กระทั่งตอบโต้อย่างรุนแรง ดังนั้น การฟังอย่างตั้งใจ (Active listening) ที่มีประสิทธิภาพ คุณต้องวางอคติที่สร้างขึ้นมาไว้ข้างๆ ก่อน และมุ่งรับฟังเพื่อค้นหาแง่มุมที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคุณ หรือผลลัพธ์เชิงบวกที่อาจเกิดขึ้นจากการฟังอย่างตั้งใจ
4. อีโก้ของคุณออกมาทำงาน
ความหมายตามพจนานุกรมของคำว่า Ego หรือ “อัตตา” หมายถึง การถือตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่า “เรามักพบคนที่มีอัตตาสูงใน “กลุ่มผู้นำ” มากกว่าผู้ตาม อีโก้ที่เกิดขึ้นนี้มันมักสะท้อนออกมาเป็นคำพูดในทำนองที่ว่า “อันนี้ฉันรู้อยู่แล้ว ทำไมฉันต้องฟัง” หรือ “ฉันฉลาดและมีประสบการณ์มากกว่า เสียเวลาฟังจริงๆ” คำพูดทำนองนี้คือตัวปิดกั้นไม่ให้คุณฟังใครเลย
5. คุณทำอย่างอื่นไปด้วยพร้อมกัน (multitask)
ในทางประสาทวิทยานั้น สมองของเราไม่สามารถรับข้อมูลหลายแหล่งพร้อมกันได้ในเวลาเดียว การทำอย่างอื่นไปด้วยพร้อมกันจะปิดกั้นความสามารถในการฟังของคุณ ผู้เขียนกล่าวว่า สมองส่วนหน้าของเรา (frontal cortex) ประมวลผลสิ่งที่เราได้ยินตามลำดับ ไม่ใช่ประมวลผลแบบคู่ขนาน (not in parallel) แปลว่า หากคุณจดจ่ออยู่กับการฟังตรงหน้าคุณจะตัดการรับรู้เสียงต่างๆ รอบตัวทันที ดังนั้น เมื่อคุณต้องการรับฟังใครสักคน คุณต้องละทิ้งทุกสิ่งที่คุณทำและมีสมาธิกับคนตรงหน้า
6. คุณไม่ชอบคนตรงหน้า
หากเราไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วยกับใครสักคน มันจะเป็นเรื่องง่ายที่คุณจะมุ่งโฟกัสไปที่ “ความไม่ชอบหรือความรู้สึกขัดแย้งในใจ” มากกว่าที่จะเน้นไปที่แก่นแท้ของการรับฟังหรือข้อมูลที่คุณจะได้รับ สิ่งที่แนะนำคือ วางใจเป็นกลาง และฟังเพื่อมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์หรือผลลัพธ์บางอย่าง
บทสรุป — การฟังอย่างตั้งใจ (Active listening) คือ การฟังที่ผู้ฟัง “ตั้งใจรับฟัง” สิ่งที่ผู้พูดสื่อสารออกมาทั้งทางคำพูดและไม่ใช่คำพูด รวมทั้งตีความไม่เพียงแค่เนื้อหา แต่ยังรวมถึงอารมณ์และภาษากายที่อยู่เบื้องหลังการสนทนาเหล่านั้นด้วย ดังนั้น การกลับมาสังเกตตนเองอยู่เสมอว่าอุปสรรคในการฟังของเราคืออะไร ก็จะช่วยให้เราสามารถเลือกวิธีพัฒนาตนเองในการฟังได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และเพิ่มทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication) อีกด้วย
References:
https://www.fastcompany.com/90293558/6-reasons-why-youre-a-bad-listener-and-how-to-change-it
https://www.lumohealth.care/blog/8-key-reasons-for-why-we-struggle-to-listen-part-1
https://medium.com/change-your-mind/why-is-it-so-hard-to-listen-74277abf75b3
https://listen.org/