การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) ไม่ใช่สำคัญแค่กับเด็กแต่สำคัญต่อคนทุกช่วงวัย


ความสำเร็จของชีวิตวัดกันที่ความฉลาด หรือความรู้ด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ? ข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า “แค่ความรู้ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ… แต่ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านอารมณ์และสังคม” การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) คือ การเรียนรู้หรือการศึกษาแนวใหม่ที่โฟกัสไปที่การทำความเข้าใจทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น การตระหนักรู้ภายในตนเอง (Self-awareness) การบริหารจัดการตนเอง (Self-management) การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness) ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills) การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making)

การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม ไม่ใช่การเรียนรู้ที่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้เรียนที่ต้องมานั่งเรียนตามหลักสูตรกันอย่างจริงจัง แต่เป็นการถักทอบทเรียนสำคัญเข้ากับประสบการณ์ชีวิตประจำวันของผู้เรียน ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ในการรับมือและเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตด้วยความเข้าใจและตระหนักรู้เท่าทัน


การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) คือ กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทั้งทางอารมณ์และสังคม ของคนวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ เน้นความสำคัญเท่ากันระหว่างความสำเร็จทางวิชาการและการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคม

5 คีย์สำคัญที่ช่วยสร้างรากฐานของ SEL (หรือ 5 สมรรถนะหลักที่สำคัญ) มีอะไรบ้าง?

1) การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness)

คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ ความคิด คุณค่าความเชื่อ และวิธีที่พวกมันส่งผลต่อพฤติกรรมของตัวเรา ได้แก่
– การรับรู้และบอกอารมณ์
– การรับรู้จุดแข็ง-จุดอ่อน
– การรับรู้ความสามารถในตนเอง
– การเชื่อมโยงความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม

2) การบริหารจัดการตนเอง (Self-management)

คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมอย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ต่างๆ ได้แก่
– การจัดการอารมณ์
– การแสดงออกทางบวก
– การวางแผน
– การตั้งเป้าหมายและกำกับตนเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆ

3) การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness)

คือ ทักษะในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (จากพื้นหลังและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน) ร่วมถึงการเข้าใจบรรทัดฐานทางสังคม ได้แก่
– การรับรู้มุมมองผู้อื่น
– การมี Empathy
– การเคารพในความแตกต่าง
– การชื่นชมในความหลากหลาย

4) ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)

คือ ความชำนาญในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ผ่านการสื่อสารอย่างชัดเจน การให้ความร่วมมือ การเจรจาต่อรอง และการแสวงหาหรือให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
– การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
– การพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวก
– การแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
– การทำงานเป็นทีมและแก้ปัญหาร่วมกัน

5) การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making)

คือ ความสามารถในการตัดสินใจที่สร้างสรรค์และมีความเคารพต่อพฤติกรรมส่วนตัวและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ข้อกังวลด้านความปลอดภัย และบรรทัดฐานทางสังคม
– การระบุปัญหาได้
– การวิเคราะห์สถานการณ์เป็น
– การเลือกวิธีแก้ไขอย่างสร้างสรรค์
– การรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
– การสะท้อนความคิด

การเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์ หรือ SEL เป็นวิธีการทางการศึกษาแนวใหม่ที่เน้นความสำคัญเท่ากันระหว่างความสำเร็จทางวิชาการและการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคมที่สำคัญ


ในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความรวดเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จ SEL ช่วยเสริมสร้างสติปัญญาทางอารมณ์ให้แก่ผู้เรียนรู้ เพื่อเผชิญกับความซับซ้อนของชีวิตได้อย่างราบรื่น นี่คือเหตุผลว่าทำไม SEL จึงมีความสำคัญ

1. ปรับปรุงผลการเรียนในระดับวิชาการ: งานวิจัยพบว่านักเรียนที่มีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่แข็งแกร่งมักจะประสบความสำเร็จในระดับวิชาการมากกว่า เนื่องจากพวกเขามีความสามารถในการจัดการกับความเครียด ความสามารถในการโฟกัสที่ดี และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและครูผู้สอน

2. สุขภาพจิตที่ดีขึ้น: SEL ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาความตระหนักรู้ในตนเอง กลยุทธ์การจัดการตนเอง และความสามารถในการขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

3. ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น: ด้วยการพัฒนาทักษะด้านความสัมพันธ์ กลยุทธ์การสื่อสาร และการแก้ไขข้อขัดแย้ง SEL ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นอยู่โดยรวมที่ดีของคนผู้นั้น

4. ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น: ท่ามกลางความท้าทายที่เข้ามาแบบรายวัน การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม หรือ SEL   มอบเครื่องมือให้ผู้เรียนสามารถรับมือกับความยากลำบาก ฟื้นตัวจากความล้มเหลว และอดทนต่ออุปสรรคได้ดีขึ้น

5. การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ: การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม หรือ SEL จะกระตุ้นให้ผู้เรียนคำนึงถึงผลที่ตามมาจากการกระทำของพวกเขา ชั่งน้ำหนักข้อกังวลด้านจริยธรรม และการตัดสินใจเลือกอย่างมีความรับผิดชอบ ที่ส่งผลเชิงบวกต่อตนเองและคนรอบข้าง


ฝึกฝนการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning) ที่บ้านหรือภายในครอบครัว (SEL at home) ได้อย่างไร?


ในขณะที่โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) แต่ที่บ้านหรือครอบครัวถือเป็นรากฐานของการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมในชีวิตจริงต่อไปนี้เป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำปฏิบัติได้จริงสำหรับที่บ้านหรือภายในครอบครัว:

  • เป็นแบบอย่างทางอารมณ์: เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีที่สุดจากตัวอย่าง จงตระหนักถึงปฏิกิริยาทางอารมณ์ของตัวเองที่แสดงออกไม่ว่าจะเป็นจากน้ำเสียง สีหน้า หรือปฏิกิริยาทางกาย รวมถึงการพูดคุยและแบ่งปันกลยุทธ์ในการจัดการเมื่อต้องเผชิญกับอารมณ์ที่รุนแรง
  • สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออกทางอารมณ์: ส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดเผยและซื่อสัตย์เกี่ยวกับความรู้สึกและการยอมรับต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น (แม้แต่อารมณ์เชิงลบ) สิ่งนี้จะส่งเสริมความตระหนักรู้ภายในตนเองและการควบคุมอารมณ์
  • ฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจ: ฝึกการเปลี่ยนมุมมองโดยการพูดคุยถึงความรู้สึกของผู้อื่น ในสถานการณ์เดียวกันนี้คิดว่าผู้อื่นจะรู้สึกอย่างไร หรือถ้าสถานการณ์แตกต่างกันออกไปเขาจะรู้สึกอย่างไร? และระดมความคิดถึงวิธีการแสดงความกรุณาและความเห็นใจ
  • สอนการแก้ไขข้อขัดแย้ง: เมื่อเกิดข้อขัดแย้ง ให้แนะนำลูกของคุณผ่านกระบวนการระบุปัญหา พิจารณามุมมองที่แตกต่างกัน และค้นหาทางออกที่ตกลงร่วมกันได้
  • ให้ลูกของคุณมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ: ตั้งแต่การเลือกกิจกรรมเสริมหลักสูตรไปจนถึงการวางแผนการท่องเที่ยวกับครอบครัว ให้ลูกของคุณมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่เหมาะสมตามวัย โดยอภิปรายถึงผลที่ตามมาจากการเลือกที่แตกต่างกัน
  • ชื่นชมความก้าวหน้าและการเติบโต: ยกย่องและชื่นชมในกรณีที่ลูกของคุณแสดงทักษะด้านสังคมและอารมณ์ เช่น การจัดการกับความผิดหวัง หรือการแก้ไขข้อขัดแย้งกับเพื่อนอย่างสันติวิธี


ประยุกต์ใช้การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning) ในที่ทำงาน (SEL in Workplace) อย่างไรได้บ้าง?


การเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์สามารถปรับใช้กับองค์กรหรือวัฒนธรรมองค์กรได้เป็นอย่างดี (SEL in Workplace):

1. การพัฒนาภาวะผู้นำ: ทักษะทางอารมณ์และสังคม; SEL เช่น ความตระหนักรู้ในตนเอง การจัดการตนเอง ความตระหนักทางสังคม และการจัดการความสัมพันธ์มีความสำคัญต่อผู้นำเป็นอย่างมาก องค์กรที่สามารถบูรณาการทักษะทางอารมณ์และสังคม; SEL SEL เข้ากับโปรแกรมการฝึกอบรมผู้นำ เพื่อช่วยให้ผู้นำเข้าใจตนเองมากขึ้น จัดการอารมณ์ได้ดี สร้างความเห็นอกเห็นใจ และสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับทีมของตน ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กร

2. การเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence): หลายองค์กรให้ความสำคัญเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) ในสถานที่ทำงาน ซึ่งทักษะทางอารมณ์และสังคม; SEL ให้กรอบแนวทางในการพัฒนาทักษะ EQ ด้วยเช่นกัน เช่น การรับรู้และควบคุมอารมณ์ตนเอง การเข้าใจสัญญาณทางสังคม และปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจและการรับฟังอย่างตั้งใจ ทักษะเหล่านี้สามารถปรับปรุงการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างพนักงาน

3. การจัดการความเครียดและการสร้างความยืดหยุ่น: โลกของการทำงานปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีเรื่องความกดดันและความเครียดสูง ทักษะทางอารมณ์และสังคม; SEL สามารถช่วยพนักงานจัดการกับความเครียด สร้างความยืดหยุ่น และรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ ซึ่งอาจรวมถึงการปฏิบัติงานด้วยความใส่ใจ เทคนิคการควบคุมอารมณ์ และกลไกการจัดการกับความเครียด ความท้าทาย และอุปสรรค

4. เข้าใจเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาค การรวมกลุ่มกัน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (DEIB): ทักษะทางอารมณ์และสังคม; SEL สามารถสนับสนุน DEIB ได้เป็นอย่างดี โดยการส่งเสริมความตระหนักรู้ทางสังคม ความเห็นอกเห็นใจ และความเคารพต่อพื้นหลังและมุมมองที่หลากหลาย ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการยอมรับที่พนักงานรู้สึกได้รับการยอมรับและเข้าใจ องค์กรสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วม ความคิดสร้างสรรค์ และประสิทธิภาพโดยรวมของพนักงานได้

5. การสร้างทีมและการทำงานร่วมกัน: ทักษะทางอารมณ์และสังคม; SEL เช่น การสื่อสาร การรับฟังอย่างตั้งใจ และการแก้ไขข้อขัดแย้ง มีความสำคัญต่อการทำงานเป็นทีม บริษัทสามารถบรรจุกิจกรรมและการฝึกทักษะทางอารมณ์และสังคม; SEL ในกิจกรรมสร้างทีมหรือการประชุม เพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหา และความไว้วางใจระหว่างสมาชิกในทีม

6. โปรแกรมสวัสดิการพนักงาน: องค์กรจำนวนมากให้ความสำคัญกับสวัสดิการของพนักงาน ไมว่าจะเป็นการดูแลด้านสุขภาพกายหรือด้านสุขภาพจิต ด้านความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม; SEL สามารถบูรณาการเข้ากับสวัสดิการต่างๆ ด้วยการมอบเครื่องมือและกลยุทธ์ในการตระหนักรู้ภายในตนเอง การควบคุมอารมณ์ และการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก 

เพื่อให้การบูรณาการการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) เข้ากับองค์กรหรือวัฒนธรรมองค์กร จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้นำ รวมถึงการฝึกอบรมและการเสริมแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์กรอาจพิจารณาความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาด้าน SEL เพื่อพัฒนาโปรแกรมตามความต้องการ และตอบโจทย์เป้าหมายเฉพาะขององค์กร


บทสรุป —การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning; SEL) คือ การเรียนรู้หรือการศึกษาแนวใหม่ที่โฟกัสไปที่การทำความเข้าใจทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น การตระหนักรู้ภายในตนเอง (Self-awareness) การบริหารจัดการตนเอง (Self-management) การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness) ทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills) การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision-making) เป็นทักษะที่ไม่เพียงสำคัญต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์และสังคมแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อคนทำงานหรือองค์กรอีกด้วย เพื่อให้เราพร้อมเผชิญต่อความท้าทายในชีวิต (ที่เข้ามาแบบรายวัน) การมีความกรุณา และความเข้าใจในตนเอง และโลกรอบตัวอย่างลึกซึ้ง

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,

บทความล่าสุด

7 อุปนิสัย ของคนที่เก่งในการจัดการตนเอง

หลายคนเชื่อว่าพรสวรรค์คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่ความจริงแล้ว “ทักษะการจัดการตนเอง” ต่างหากที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ