วงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) เครื่องมือช่วยให้คุณรู้จักอารมณ์ตนเองมากขึ้น


คุณเคยเผชิญความรู้สึกอัดอั้น “ที่ยากจะอธิบายออกมาเป็นด้วยคำพูดบ้างหรือเปล่า…?” หรือเคยอดกลั้นเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่จนระเบิดออกมาบ้างไหม…? ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย และผมก็เชื่ออย่างหมดใจเลยว่า “การเข้าใจอารมณ์ตนเองได้และจัดการกับอารมณ์ตนเองเป็น” ถือเป็นเรื่องท้าทายอันดับต้นๆ ของการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ทุกคนเลย


ทำไมการไม่รู้จักอารมณ์ความรู้สึกของตนเองถึงเป็นปัญหา?


หากลองพิจารณาอย่างใกล้ชิด การขาดการตระหนักรู้ (self-awareness) ในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เป็นสารตั้งต้นนำพาไปสู่ปัญหาต่างๆ ดังเช่น

1) เมื่อเราไม่รู้ว่าตนเอง “กำลังรู้สึกอะไร?” ก็มีแนวโน้มที่จะไม่รู้ว่าจะจัดการกับภาวะอารมณ์ของตนเองอย่างไร? เมื่อไม่รู้ย่อมนำไปสู่ภาวะเครียด หงุดหงิด วิตกกังวล โกรธ หรือเศร้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ซึ่งอาจนำพามาซึ่งปัญหาการขาดการนับถือตนเองได้

2) เราไม่สามารถอ่านหรือคาดเดา “อารมณ์และความรู้สึกของคนรอบตัวได้” อาจนำมาซึ่งการขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

3) เมื่อไม่รู้จักอารมณ์และความรู้สึก “จะสามารถจัดการหรือควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างไร?” นำมาซึ่งปัญหาด้านพฤติกรรมและการแสดงออก (นำพาไปสู่การเลือกวิธีแสดงออกที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เป็นต้น)ส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในสังคม

และด้วยความท้าทายตรงนี้จึงมีนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญมากมาย ที่พยายามกระตุ้นให้ผู้คนหันมาทำความเข้าใจเรื่องอารมณ์และความรู้สึก และวงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือนั้นๆ


นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อดัง Robert Plutchik ได้สร้างทฤษฎี “วงล้ออารมณ์” ขึ้น และแบ่งกลุ่มอารมณ์พื้นฐานออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ ความวางใจ (Trust) ความกลัว (Fear) ความประหลาดใจ (Surprise) ความเศร้า (Sadness)ความรังเกียจ (Disgust) ความโกรธ (Anger) ความคาดหวัง (Anticipation) และความสุข (Joy) ในลักษณะรูปวงล้อที่แสดงอารมณ์ที่ใกล้ชิดกันและขั้วตรงข้ามกันของอารมณ์แต่ละชนิด

ซึ่งจากจุดตั้งต้นนี้ได้มีนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ พัฒนาต่อยอดวงล้ออารมณ์ออกไปอีกหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาและนักสันติวิธี Marshall Rosenberg  ได้พัฒนาวงล้ออารมณ์ขึ้นมา เพื่อใช้ทำความเข้าใจในการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent communication: NVC) ด้วยการเพิ่มประเภทของอารมณ์หลักให้มากขึ้นเป็น 12 อารมณ์ และแตกแขนงอารมณ์รองออกมาจากอารมณ์หลักขึ้นไปอีก

จากจุดตั้งต้นตรงนี้เรายังสมารถแบ่งฝั่งของอารมณ์เพื่อให้เห็นภาพของอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ในสิ่งที่ต้องการ (อารมณ์ที่น่าพึงพอใจ) กับอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นหากเราไม่ได้รับในสิ่งที่เราต้องการ (อารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ)

ความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเราได้ในสิ่งที่ต้องการ (อารมณ์ที่น่าพึงพอใจ) ได้แก่

  • ภูมิใจ (Proud)
  • สุข (Joyful)
  • สนใจ (Intrigued)
  • มั่นใจ (Trusting)
  • รัก/ชอบ (Loving)
  • สันติ (Peaceful)

ความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ (อารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ) ได้แก่

  • โกรธ (Angry)
  • รังเกียจ (Disgusted)
  • กลัว (Afraid)
  • ประหลาดใจ (Surprised)
  • เสียใจ (Sad)
  • อับอาย (Ashamed)

ซึ่งอารมณ์ทั้ง 12 ประเภท ก็จะมีอารมณ์ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับตัวมันเองเสมอ ได้แก่

  • โกรธ (Angry) ≠ สันติ (Peaceful)
  • รังเกียจ (Disgusted) ≠ รัก/ชอบ (Loving)
  • กลัว (Afraid) ≠ มั่นใจ (Trusting)
  • ประหลาดใจ (Surprised) ≠ สนใจ (Intrigued)
  • เสียใจ (Sad) ≠ สุข (Joyful)
  • อับอาย (Ashamed) ≠ ภูมิใจ (Proud)

“จะจัดการหรือควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างไร…? เมื่อยังไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังรู้สึกอย่างไร…!!” เป้าหมายหลักของการใช้วงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) คือ การพาตัวคุณกลับเข้ามาตระหนักรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองก่อน (self-awareness) ผ่านการระบุชื่ออารมณ์ → จากนั้นจึงจะค่อยเลือกวิธีบริหารจัดการตนเอง (self-management) ที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งทั้งการตระหนักรู้ตนเอง (self-awareness) และการบริหารจัดการตนเอง (self-management) ถือเป็นสองคีย์สำคัญในกระบวนการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (social and emotional learning; SEL) ที่เราให้ความสำคัญและพยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้น

ดังนั้น วงล้อแห่งอารมณ์จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้คุณระบุชื่ออารมณ์และความรู้สึกได้ง่ายขึ้น ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ผ่าน 3 ขั้นตอนง่ายๆ ได้ดังนี้

1. เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้น ก่อนที่จะตีความ/ประเมิน/ตัดสิน ให้กลับมาสังเกตตนเองก่อนว่า “ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร?”

2. จากนั้นระบุชื่ออารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น (บางครั้งอาจเป็นอารมณหลัก หรืออารมณ์รอง)

3. เลือกวิธีแสดงออกที่เหมาะสม ให้พิจารณาว่า “สิ่งที่ฉันจะแสดงออกนั้น… เกิดประโยชน์ (ต่อตนเอง/ผู้อื่น) หรือเปล่า? หรือเบียดเบียน (ตนเอง/ผู้อื่น) หรือไหม?”

อารมณ์หลัก (Primary emotions) อารมณ์รอง (Secondary emotions) แตกต่างกันอย่างไร?

อารมณ์เป็นสภาวะที่ซับซ้อนซึ่งส่งผลต่อความคิด พฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลงทางกาย นักจิตวิทยาได้พยายามจัดหมวดหมู่ของอารมณ์ที่แตกต่างกัน หนึ่งในวิธีเหล่านั้นคือ การแยกแยะระหว่างอารมณ์หลัก หรืออารมณ์ขั้นต้น (Primary emotions) และอารมณ์รอง หรืออารมณ์ทุติยภูมิ (Secondary emotions)

อารมณ์หลัก (Primary emotions)

  • อารมณ์หลักหรือารมณ์ขั้นต้นเป็นอารมณ์พื้นฐานและสากลที่มนุษย์ทุกคนประสบ
  • มักถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าภายนอก
  • มักมีอายุสั้นและรุนแรง

ตัวอย่างของอารมณ์ขั้นต้น ได้แก่: ความสุข ความเศร้า ความโกรธ เป็นต้น

อารมณ์รอง (Secondary emotions)

  • อารมณ์รองหรืออารมณ์ขั้นทุติยภูมิเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นฐานของอารมณ์หลัก
  • มักได้รับอิทธิพลจากความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ของเรา
  • อารมณ์รองอาจมีความแตกต่างและยั่งยืนมากกว่าอารมณ์หลัก

ตัวอย่างของอารมณ์ขั้นทุติยภูมิ ได้แก่: ความรู้สึกผิด ความละอายใจ ความรู้สึกปลอดภัย เป็นต้น

ความแตกต่าง?

ความแตกต่างที่เป็นจุดสังเกตระหว่างอารมณ์หลัก (Primary emotions) และอารมณ์รอง (Secondary emotions) คือ “ความซับซ้อน” อารมณ์หลักนั้นเรียบง่ายและเป็นอัตโนมัติมากกว่า ในขณะที่อารมณ์รองมีความซับซ้อนมากกว่าและเกี่ยวข้องกับความคิดและประสบการณ์ของเรามากกว่า

ต่อไปนี้คือตารางสรุปความแตกต่างที่สำคัญ:

คุณลักษณะ (Feature)อารมณ์หลัก (Primary emotions)อารมณ์รอง (Secondary emotions)
ความซับซ้อนเรียบง่ายและเป็นอัตโนมัติซับซ้อนมากกว่า
ต้นกำเนิดมีความเป็นชีวภาพได้รับอิทธิพลจากความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ของตนเอง
ระยะเวลาสั้นละเอียดอ่อนและยาวนานกว่า
ตัวอย่างความสุข ความเศร้า ความโกรธ ความกลัว เป็นต้นความรู้สึกผิด ความละอายใจ ความหึงหวง ความอับอายใจ เป็นต้น


ประโยชน์ที่ได้จากวงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) คืออะไร?



เป็นเครื่องมือในการติดป้ายอารมณ์ (labeling)

อารมณ์และความคิดเชิงตรรกะเหตุผลเกิดขึ้นในสมองสองส่วนที่แตกต่างกัน การติดป้ายอารมณ์ช่วยดึงคุณออกจากวงจรแห่งอารมณ์และมาสู่วงจรแห่งการใช้เหตุและผลในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหา

ดังนั้น เมื่อคุณสังเกตเห็นว่าตนเองกำลังรู้สึกอะไรบางอย่าง (ไม่ว่าจะทั้งเชิงบวกหรือเชิงลบ) ให้ฝึกระบุสิ่งที่กำลังรู้สึก ตัวอย่างเช่น มีรถมอเตอร์ไซค์ขับตัดหน้า เห็นความรู้สึกโกรธเกิดขึ้น เป็นต้น ยิ่งคุณรับรู้ความรู้สึกของตัวเองมากเท่าไร คุณก็ยิ่งสามารถเลือกวิธีตอบสนองต่อความรู้สึกเหล่านั้นได้ดีขึ้นเท่านั้น

เป็นเครื่องมือในการตระหนักรู้ตนเอง (self-awareness)

เมื่อเราเริ่มใส่ใจกับความรู้สึกของเราไม่ว่าจะผ่านการคอยสังเกต ระบุชื่ออารมณ์ หรือการจดบันทึกความรู้สึก สิ่งนี้จะช่วยพัฒนาความตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น วงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) ช่วยพัฒนาคลังคำศัพท์ทางอารมณ์ที่กว้างขึ้น

ตัวอย่างเช่น คุณรู้สึก “กระวนกระวายใจ” ซึ่งถือเป็นอารมณ์รองในกลุ่มอารมณ์หลักความกลัว / หรือคุณรู้สึก “ท้อแท้หมดหวัง” ซึ่งอยู่ในกลุ่มอารมณ์หลักความเศร้า เป็นต้น ดังนั้น ด้วยการขยายคำศัพท์ด้านอารมณ์ของคุณ คุณจะสามารถเข้าใจและอธิบายความรู้สึกของคุณได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การรู้จักตนเองมากขึ้น

เป็นเครื่องมือในการควบคุมอารมณ์ (self-management)

การควบคุมอารมณ์ คือ ความสามารถในการสงบสติอารมณ์ รวบรวมสติ และมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เราสามารถใช้วงล้อแห่งอารมณ์เพื่อค้นหาความต้องการทางอารมณ์ได้ และเลือกวิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม


ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร

หากคุณมีปัญหาในการอธิบายความรู้สึกของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ วงล้ออารมณ์สามารถช่วยเปิดบทสนทนาได้ ผมคิดว่าการทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเรา ทั้งในส่วนอารมณ์หลัก/อารมณ์รอง ผสมผสานเข้าด้วยกันเป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มต้นทำให้คุณสื่อสารความรู้สึกของคุณได้อย่างแม่นยำและชัดเจนยิ่งขึ้น

เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจผู้อื่น

ไม่ใช่ทุกคนที่มีช่วงเวลาสบายๆ หรือรู้สึกปลอดภัยในการแสดงอารมณ์ของตนเอง บางครั้งเมื่อมีคนพูดหรือแสดงอะไรบางอย่าง เราสามารถสังเกตเพิ่มขึ้นได้ว่ามันอาจไม่ใช่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานของคุณที่คอยหลบเลี่ยงหรือคอยปฏิเสธอยู่เสมอ (อารมณ์รอง) เมื่อสังเกตให้ลึกคุณอาจพบว่าเขาอาจกำลังปกปิดความรู้สึกกลัวหรือรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยบ้างอย่างอยู่ (อารมณ์หลัก) เป็นต้น

เมื่อคุณเข้าใจความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ของอารมณ์หลักหรืออารมณ์รองได้ พฤติกรรมของผู้คนก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้กับเด็กๆ

เด็กวัยเรียนโดยเฉพาะช่วงอายุ 6-12 ปี เป็นช่วงวัยที่กำลังเริ่มมีพัฒนาการทางสังคมกับกลุ่มเพื่อนหรือครู แต่ปัญหาคือเด็กส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีคลังคำศัพท์ทางอารมณ์ที่จะแสดงออก ดังนั้น วงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) อาจเป็นเครื่องมือช่วยที่ดีในการทำความเข้าใจลูกๆ ได้ดีขึ้น และเด็กๆ ยังจะเพลิดเพลินไปกับความรู้สึกต่างๆ ที่พวกเขาต้องเลือก แทนที่จะรู้สึกถูกจำกัดอยู่เพียงความรู้สึกหลักเพียงไม่กี่อย่าง


บทสรุป – วงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) เหมาะกับใคร?


เครื่องมือนี้เหมาะกับทุกคน (หากคุณยังมีลมหายใจอยู่) เพราะอารมณ์และความรู้สึกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราอยู่ตลอดเวลา เพราะหลายครั้งที่เราไม่สามารถอธิบายอารมณ์หรือความรู้สึกออกมาเป็นด้วยคำพูดได้… อาจเกิดจากการที่เรามีคลังคำศัพท์ทางอารมณ์น้อย จึงไม่รู้ว่าจะพูดหรือสื่อสารออกไปอย่างไร ดังนั้น วงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) อาจเป็นเครื่องมือช่วยที่ดีในการเริ่มต้นทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.6seconds.org/2022/03/13/plutchik-wheel-emotions/
https://www.betterup.com/blog/emotion-wheel
Nonviolent Communication (NVC) ของ Marshall Rosenberg. จาก Feelings Wheel
https://humansystems.co/emotionwheels/

กรอกข้อมูลด้านล่าง หากสนใจหลักสูตร

เครื่องมือล่าสุด

เครื่องมือค้นหาจุดแข็งและคุณค่าภายในตนเอง ❘ The VIA Character Strengths Survey

แบบสำรวจ VIA Character Strengths ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าอะไรทำให้เราเป็นตัวเราวันนี้ อะไรคือบุคลิกภาพหลัก และอะไรคือจุดแข็งที่เราพัฒนาต่อได้

วงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) เครื่องมือช่วยให้คุณรู้จักอารมณ์ตนเองมากขึ้น

วงล้ออารมณ์ (The Wheel of Emotions) เป็นเครื่องมือช่วยให้คุณระบุชื่ออารมณ์และความรู้สึกได้ง่ายขึ้น และเพิ่มการตระหนักรู้ตนเอง (self-awareness)

Picture of Armer Khanachang

Armer Khanachang

Founder at SELminder,